จองตั๋วรถไฟ ‘อลเวง’ รฟท.รื้อใหม่-เลิกว้าวุ่น

จองตั๋วรถไฟ ‘อลเวง’ รฟท.รื้อใหม่-เลิกว้าวุ่น

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้ประชาชนสามารถจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าได้ 30 วัน จากเดิมที่สามารถจองล่วงหน้าได้เพียง 3 วัน เพื่อให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวได้วางแผนการเดินทางในระยะยาวได้มากขึ้นโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว และในเทศกาลสำคัญต่างๆ

แต่เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน “เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์” หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยว่า การรถไฟได้ขยายเวลาเปิดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าจากเดิม 30 วัน เพิ่มสูงสุดเป็น 90 วัน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสจองซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้ยาวนานขึ้น โดยสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือระบบจองตั๋วโดยสารออนไลน์ D-Ticket ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มนำร่อง 8 ขบวน พรีเมียม ซึ่งเป็นขบวนรถใหม่ล่าสุดของ รฟท. ชุด 115 คัน (CNR) ในเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั้งสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ก่อน โดยเส้นทางที่จะเปิดให้บริการ ดังนี้

สายเหนือ จำนวน 2 ขบวน เที่ยวไป ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 9 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีเชียงใหม่ เที่ยวกลับ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 10 สถานีเชียงใหม่-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

Advertisement

สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4 ขบวน เที่ยวไป ขบวนด่วนพิเศษที่ 23 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีอุบลราชธานี เที่ยวกลับ ขบวนด่วนพิเศษที่ 24 สถานีอุบลราชธานี-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เที่ยวไป ขบวนด่วนพิเศษที่ 25 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีหนองคาย เที่ยวกลับ ขบวนด่วนพิเศษที่ 26 สถานีหนองคาย-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

สายใต้ จำนวน 2 ขบวน เที่ยวไป ขบวนด่วนพิเศษที่ 31 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีหาดใหญ่ เที่ยวกลับ ขบวนด่วนพิเศษที่ 32 สถานีหาดใหญ่-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

สำหรับการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าระยะเวลา 90 วัน รฟท.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1.ผู้โดยสารที่จองตั๋วเดินทางน้อยกว่า 25% ของระยะทางขบวนรถ จองตั๋วล่วงหน้าได้ 1 วัน 2.ผู้โดยสารที่จองตั๋วเดินทาง ตั้งแต่ 25% แต่ไม่ถึง 60% ของระยะทางขบวนรถ จองตั๋วล่วงหน้าได้ภายใน 30 วัน และ 3.ผู้โดยสารที่จองตั๋วเดินทางตั้งแต่ 60% ของระยะทางขบวนรถขึ้นไป จองตั๋วล่วงหน้าได้ภายใน 90 วัน ซึ่งกำหนดวันข้างต้นให้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการเดินทางด้วย

Advertisement

ด้านเงื่อนไข ดังนี้ สายใต้ หากผู้โดยสารเริ่มต้นการเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปจนถึงสถานีหัวหิน เป็นการจองตั๋วเดินทางน้อยกว่า 25% ของระยะทางขบวนรถ จะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 1 วัน หากระยะทางเกินจากนั้น ไปจนถึงสถานีชุมพร สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน และผู้โดยสารที่เดินทางตั้งแต่สถานีสุราษฎร์ธานีเป็นต้นไป สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 90 วัน

ขณะที่ สายเหนือ หากผู้โดยสารเริ่มต้นการเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปจนถึงสถานีลพบุรี เป็นการจองตั๋วเดินทางน้อยกว่า 25% ของระยะทางขบวนรถ ซึ่งจะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 1 วัน หากระยะทางเกินจากนั้น ไปจนถึงสถานีพิษณุโลก สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางตั้งแต่สถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ เป็นต้นไป สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 90 วัน

สายตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นหนองคาย หากผู้โดยสารเริ่มต้นการเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปจนถึงชุมทางแก่งคอย เป็นการจองตั๋วเดินทางน้อยกว่า 25% ของระยะทางขบวนรถ ซึ่งจะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 1 วัน หากระยะทางเกินจากนั้น ไปจนถึงสถานีชุมทางบัวใหญ่ สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน และผู้โดยสารที่เดินทางตั้งแต่สถานีเมืองพลเป็นต้นไป สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 90 วัน

อย่างไรก็ตาม สายตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นอุบลราชธานี หากผู้โดยสารเริ่มต้นการเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปจนถึงสถานีสระบุรี เป็นการจองตั๋วเดินทางน้อยกว่า 25% ของระยะทางขบวนรถ ซึ่งจะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 1 วัน หากระยะทางเกินจากนั้น ไปจนถึงสถานีนครราชสีมา สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน และผู้โดยสารที่เดินทางตั้งแต่สถานีลำปลายมาศเป็นต้นไป สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 90 วัน

การเพิ่มระยะเวลาในการจองตั๋วรถไฟ ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี แต่มาสะดุดตรงรายละเอียดของการจองที่มีเรื่องของร้อยละของระยะทาง เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนมึนงง สับสนเป็นอย่างมาก จากความวุ่นวายของการคำนวณดังกล่าว เป็นผลให้การรถไฟต้องลบข้อมูลดังกล่าวออกจากออนไลน์ไป เพื่อลดความสับสนของประชาชน

ทำให้ “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลการรถไฟ ต้องออกมาชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้ประชาชนใหม่ว่า ไม่ว่าผู้โดยสารจะเดินทางในระยะใกล้หรือไกล หากอยู่ในเส้นทางของ 8 ขบวนดังกล่าว สามารถจองตั๋วล่วงหน้าใน 90 วัน และหลังจากเปิดให้จองวันแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเข้าไปจองตั๋วช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 หรือขาไป ช่วงวันที่ 28-31 ธันวาคม 2566 ขากลับวันที่ 1-2 มกราคม 2567 ครบทั้ง 4,000 ที่นั่ง หรือขบวนละ 500 ที่นั่ง ในจำนวนนี้ยังไม่รวมกับขบวนรถปกติ ซึ่งจะเปิดให้จองก่อนวันเดินทางล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งใช่วงปกติมียอดการเดินทางอยู่แล้ว 80,000 คนต่อวัน แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ 20% อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ทางการรถไฟจะมีการเพิ่มขบวนรถเสริมต่อไป

ส่วนกรณีที่มีการปรับตารางเวลาเดินรถไฟสายใต้ ทั้งในส่วนของการรองรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า อีกทั้งจะมีการขยายเส้นทางขบวนรถธรรมดาที่ 261/262 จากเดิมกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)-หัวหิน-กรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ขยายเป็น กรุงเทพฯ (หัวลำโพง)-สวนสนประดิพัทธ์-กรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้บางขบวนจะมาถึงสถานีปลายทางเร็วกว่าปกติ หรือถึงประมาณ 03.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่รถโดยสารสาธารณะยังไม่เปิดให้บริการนั้น เรื่องนี้เตรียมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้เตรียมรถสาธารณะ อาทิ รถเมล์และแท็กซี่ ไว้คอยให้บริการแล้ว ไม่ต้องเป็นกังวล

เรื่องการปรับเวลาการเดินรถก็ดี หรือเรื่องที่การรถไฟประกาศขยายระยะเวลาในการจองตั๋วใน 8 ขบวนดังกล่าวก็ตาม ส่วนหนึ่งต้องการรู้ถึงความต้องการของประชาชนในการเดินทาง และช่วยให้นักท่องเที่ยว หรือประชาชนที่ต้องการเดินทางได้มีเวลาในการเตรียมตัว และวางแผนการเที่ยวได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยไม่ต้องมาลุ้นในวันใกล้ๆ ว่าจะมีตั๋วเดินทางหรือไม่ และหากมีการจองในวันที่ต้องการเดินทางเต็มไปแล้วจะได้หาการขนส่งด้านอื่นๆ เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายได้ต่อไป

“เร็วๆ นี้ มีนโยบายให้การรถไฟขยายวันจองตั๋วล่วงหน้าเป็น 6 เดือน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่หลายประเทศใช้รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นการเพิ่มโอกาสในการวางแผนเดินทางล่วงหน้า และมีส่วนช่วยในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและบริการในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย” รมช.คมนาคมแจงปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image