‘บิ๊กอสังหาฯ’ ชี้ศก.ไทยน่าห่วง หวั่นแจก ’เงินดิจิทัล’ ได้ไม่คุ้มเสีย ขอยาแรง ’เศรษฐา’ ปลุกคนซื้อบ้าน

‘บิ๊กอสังหาฯ’ ชี้ศก.ไทยน่าห่วง หวั่นแจก ’เงินดิจิทัล’ ได้ไม่คุ้มเสีย ขอยาแรง ’เศรษฐา’ ปลุกคนซื้อบ้าน

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า จากการที่สภาพัฒน์ ประกาศจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2566 โต 1.5% สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในปี 2566 อยู่ในภาวะถดถอย ขณะที่ในปี 2567 ยังต้องจับตาภาวะ 2 สงครามทั้งรัสเซียกับยูเครนและอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะยุติลงอย่างไร ถ้าไม่จบจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย ทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกจากประเทศคู่ค้าที่คำสั่งซื้ออาจลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวเป็นอีกปัจจัยต้องลุ้นจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ หลังปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวจากจีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

“จากนี้ถึงปี 2567 ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราประเมินหรือวางแผนธุรกิจระยะยาวไม่ได้ ต้องมองแค่ระยะสั้น เป็นรายไตรมาส จะพยากรณ์ล่วงหน้านานไม่ได้ เพราะมีปัจจัยไม่แน่ไม่นอนเยอะ” นายอธิปกล่าว

นายอธิปกล่าวว่า ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ทางรัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจน เช่น นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะทำยังไง ถ้า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทไม่ผ่าน จะส่งผลทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการรองรับและต้องเป็นโนบายที่ชัดเจน อาทิ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศหรือเมืองรอง โดยให้สามารถนำค่าพักโรงแรม นำไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อกระตุ้นช่วงปลายปีนี้ ที่เป็นไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว

Advertisement

นายอธิปกล่าวว่า สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องการมาตรการจากภาครัฐมาสนับสนุนกระตุ้นกำลังซื้อในตลาด ซึ่ง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เตรียมจะทำหนังสือยื่นต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้พิจารณามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมองว่านายกรัฐมนตรีน่าจะเข้าใจสภาพตลาดได้ดี

นายอธิปกล่าวว่า โดยมาตรการที่จะขอได้แก่ ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ให้กับบ้านทุกระดับราคา จากปัจจุบันลดให้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ลดค่าธรรมเนียมโอนเหลือ 1% และค่าจดจำนอง 0.01% ลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2567 ลด 75% ปี 2568 ลด 50% รวมถึงผ่อนปรนให้มีการผ่อนชำระได้มากกว่า 3 เดือน อาจเป็น 12 เดือน และผ่อนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือไม่เก็บค่าปรับเพิ่ม เนื่องจากคนยังไม่มีรายได้กลับมาเหมือนเดิม และผ่อนปรนมาตรการ LTV และขอให้ฟื้นโครงการบ้านดีมีดาวน์ ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำหรับให้ผู้มีรายได้น้อย หรือคนที่ไม่เคยซื้อบ้านได้มีบ้านหลังแรก โดยรัฐจะช่วยสนับสนุนเงินในรูปแบบของแคชแบ๊กลดภาระการผ่อนดาวน์บ้านเป็น 100,000 บาทต่อรายจากเดิม 50,000 บาทต่อราย ซึ่งภาคธุรกิจอสังหาฯถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของสภาพัฒน์ โต 1.5% สะท้อนเศรษฐกิจซึมหนัก เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลมีแต่มาตรการช่วยบรรเทาภาระประชาชน โดยลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน แต่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมา ขณะที่นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นในช่วงเวลานี้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมา เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี อย่างช้อปดีมีคืนหรือส่วนลดโรงแรมที่พักเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากภาครัฐเองมีข้อกัดเรื่องงบประมาณที่จะนำไปอัดฉีดในระบบ วิธีดีที่สุดคือการลดหย่อนด้านภาษี เพื่อให้คนมีเงินอยู่แล้วนำออกมาใช้จ่าย

Advertisement

“ด้านตลาดอสังหาฯไตรมาส 4 ยังไม่ดี แม้เป็นช่วงไฮซีซั่นของการขาย เพราะคนยังไม่ค่อยเชื่อมั่น แบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้มากขึ้น ซึ่งสมาคมเตรียมจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีออกมาตรการกระตุ้น เช่น ยืดเวลาลดค่าโอนและจำนอง ลดภาษีที่ดินฯ ผ่อนมาตรการ LTV คาดว่าจะยื่นได้ก่อนสิ้นปีนี้ จากเดิมไม่อยากไปสร้างแรงกดดันให้กับนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยสภาวะตลาดและเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีมาตรการมากระตุ้นเพื่อสร้างความมั่นใจของลูกค้ามากขึ้น” นายวสันต์กล่าว

นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังสภาพัฒน์ประกาศจีดีพีไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% ต่อปี ทำให้น่าเป็นห่วงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปี 2567 เนื่องจากเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้ามานานเกือบ 10 ปีแล้ว ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรออกมากระตุ้นที่รุนแรงน่าเป็นห่วง เพราะระดับรากหญ้าออกแรงไปมากตั้งแต่ช่วงโควิด แต่เขาไม่ได้ตายในทันที แต่ค่อยๆ เพลีย ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป อันตรายมากเพราะตายเงียบ ดังนั้นจึงต้องมีอะไรมากระตุ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในการกระตุ้น โดยผ่านแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐ เช่น ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ได้มากขึ้นในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ออกมา ห่วงแต่วินัยการเงิน โดยที่ไม่รู้เลยว่าประเทศเรากำลังตาย

“ส่วนนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หากสามารถผลักดันออกมาได้จะช่วยกระตุ้นได้แค่ไตรมาสเดียวเท่านั้น และใช้เงินถึง 5 แสนล้านบาท มองว่าเป็นนโยบายได้ไม่คุ้มเสีย เพราะคงจะช่วยแค่ช่วงระยะสั้น แต่ต่อไปก็หมดแรง เพราะคนไม่มีเงินแล้ว นโยบายนี้เหมือนคนป่วยแจกยาแก้ปวด พอหมอยาแล้วก็ป่วยต่อและมีหนี้ที่เพิ่มขึ้น มันไม่ดีต่อระยะยาว เราอยากให้มีมาตรการที่สร้างเศรษฐกิจระยะยาวให้ก้บประเทศมากกว่า ทั้งนี้ ในความเห็นส่วนตัวผมว่าใช้นโยบายช้อปช่วยชาติ หรือมาตรการลดหย่อนภาษีน่าจะดีกว่า” นายวงศกรณ์กล่าว

นายวงศกรณ์กล่าวว่า สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2 เดือนที่เหลือ ถือเป็นไฮซีชั่นของการขาย มีการเปิดโครงการใหม่จำนวนมาก แต่การขายยังเป็นไปได้ช้า ถ้าหากในปี 2567 ภาครัฐไม่มีมาตรการออกมากระตุ้น ตลาดอสังหาฯน่าจะแย่มากขึ้น ดังนั้นมองว่าภาครัฐยังจำเป็นต้องมีต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมนี้ออกไปอีก 1-2 ปี และหากขยายเพดานราคาบ้านครอบคลุมบ้าน 5-10 ล้านบาทด้วยจะยิ่งดี เพราะเป็นกลุ่มที่ที่มีกำลังซื้อสูง ขณะที่บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทจะมีปัญหาเรื่องกู้แบงก์ไม่ผ่านสูง ซึ่งในส่วนของเพอร์เฟคมีลูกค้ากู้ซื้อบ้านต่ำกว่า 5 ล้านบาทไม่ผ่านถึง 30-400% ขณะเดียวกันอยากให้ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image