สศช. ชี้ ผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าทั้งก่อน-หลังขึ้นเงินเดือน ส่วนหนี้ครัวเรือนทะลุ90%จีดีพี

‘สศช.’ เผยจ้างงานพุ่ง 1.3% หนี้ครัวเรือนขยับแตะ 90.7% ของจีดีพี ชี้ประกาศขึ้นเงินเดือนล่วงหน้าทำสินค้าขึ้นราคาก่อน 6-7 เดือน และขึ้นต่ออีก 7 เดือนหลังเงินเดือนขึ้นไปแล้ว ส่วนหนี้เสียเพิ่มเป็น 4.9 ล้านบัญชี จากเดิม 4.4 ล้านบัญชี

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2566 เครื่องชี้วัดที่ติดตาม ได้แก่ การจ้างงาน เพิ่มขึ้น 1.3% อัตราการว่างงานปรับลดลงมาที่ 0.99% ซึ่งการว่างงานปรับลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ลดลง 32.8% ทั้งผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และผู้ว่างงานระยะยาว หนี้ครัวเรือน ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% โดยคดีอาญา อยู่ที่ 13.7% การคุ้มครองผู้บริโภค อยู่ที่ 0.8% ทั้ง 2 รายการปรับลดลงเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ส่วนการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง อยู่ที่ 99.9% การบริโภคเหล้าและบุหรี่ อยู่ที่ 3.2% การรับแจ้งผู้ประสบภัยจากรถ อยู่ที่ 20.5% ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

นายดนุชากล่าวว่า ผู้มีงานทำอยู่ที่ 40.1 ล้านคน ปรับเพิ่มขึ้น 1.3% แรงงานภาคเกษตรปรับเพิ่มขึ้น 2% อยู่ที่ 12.6 ล้านคน แรงงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 1% อยู่ที่ 27.4 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นในส่วนโรงแรมและภัตตาคาร 8.3% ก่อสร้างขนส่งผลิต ก็เพิ่มขึ้น ลดลงเล็กน้อยเป็นงานในค้าส่งค้าปลีก ชั่วโมงทำงานในภาพรวมเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยประมาณ 0.2% ภาคเอกชนชั่วโมงลดลง 1.3% กลุ่มที่ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดลงประมาณ 28.8% ผู้เสมือนว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.3% เทียบไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.2% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 25% ขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาพรวมอยู่ที่ 15,367 บาทต่อคนต่อเดือน ปรับเพิ่มขึ้น 9% ส่วนค่าจ้างภาคเอกชนอยู่ที่ 14,086 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 10.3% มีกลุ่มระดับการศึกษาประถมศึกษา และต่ำกว่ามัธยมต้นที่อัตราว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นายดนุชากล่าวว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ แรงงานในภาคเกษตรจะต้องให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะแรงงาน 1 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตร การหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิตได้ จึงต้องเร่งทำตลาดการส่งออกให้ดีกว่าเดิม เพื่อให้เกิดการจ้างงานในภาคสำคัญได้มากขึ้น และระดับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้าง เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จากข้อมูลพบว่า การประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำล่วงหน้าก่อนมีการบังคับใช้จริง จะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเริ่มปรับเพิ่มขึ้นก่อน 6-7 เดือน จากนั้นจะทยอยปรับขึ้นต่ออีก 7 เดือน ทั้งที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงอาจต้องมีการกวดขันไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าด้วยสาเหตุจากการปรับค่าจ้างก่อนช่วงเวลาที่ปรับจริง

Advertisement

นายดนุชากล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.7% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือปรับลดลงเล็กน้อย โดยสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเร่งขึ้น สินเชื่อบัตรเครดิตไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก และมีแนวโน้มลดลง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการปรับตัวเร่งขึ้นมาก หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.71% ทำให้หนี้สินครัวเรือนเป็นประเด็นต้องให้ความสำคัญมากๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ อาทิ การพักหนี้เกษตรกร รวมถึงควรมีมาตรการควบคู่ด้วยในการยกระดับรายได้เกษตรกร ผ่านการช่วยเรื่องกระบวนการผลิตและสร้างตลาดให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำควบคู่กันอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้หลุดออกจากกับดักหนี้ได้

“เอ็นพีแอลภาคธุรกิจ การแก้ไขปัญหาหนี้เสียจากภาวะโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะเดิมเป็นลูกหนี้ดีมาตลอด แต่ต้องกลายเป็นหนี้เสียช่วงโควิด จำนวนบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 4.4 ล้านบัญชี เป็น 4.9 ล้านบัญชี แม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือ ทำให้ต้องเร่งช่วยเหลือต่อเพราะเป็นกลุ่มที่สามารถทำธุรกิจต่อเนื่องไปได้ เพราะก่อนเกิดโควิดยังเป็นลูกหนี้ดีอยู่ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจภาพรวมสามารถขับเคลื่อนไปได้” นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับช่องว่างทางการคลัง (Policy Space) ที่นโยบายของรัฐบาลที่ต้องเพิ่มรายจ่ายบางอยู่ อาทิ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ช่องว่างทางการคลังที่เหลืออยู่ตอนนี้จะสามารถทำได้หรือไม่นั้น มองว่า ไม่ได้เป็นการขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่เพราะเล็งเห็นแล้วว่าระดับเงินเดือนของข้าราชการแรกเข้าบรรจุ มีอัตราต่ำเมื่อเทียบกับเอกชน ซึ่งต้องรอติดตามเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า โดยการบริหารช่องว่างทางการคลัง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการจัดลำดับการใช้จ่าย และเป็นเรื่องการขยายฐานรายได้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ซึ่งต้องทำทั้ง 2 ส่วน เพื่อให้ช่องว่างทางการคลังขยายตัวขึ้นมาได้ ส่วนรายจ่าย สวัสดิการต่างๆ ก็มีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการที่รัฐออกมาในช่วงที่แล้ว มาตรการบางอย่างอาจต้องทำควบคู่กันไป เพื่อสร้างความสามารถในการสร้างรายได้ของบุคคล สร้างงาน เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น หลุดจากระบบแบบเดิม ทำให้ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลทุกปี อาทิ บัตรสวัสดิการ ที่ต้องทำทั้ง 2 ส่วนควบคู่กันไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image