กรอ. รุกจัดการกากของเสีย ‘โกดังภาชีอยุธยา’ เคาะเฟสแรกใช้งบ 6.9 ล้านบาท ภายในปี 2567
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้ร่วมประชุมเรื่องร้องเรียนการลักลอบทิ้งสารเคมีที่เข้าข่ายวัตถุอันตรายในพื้นที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อมูล ตอบข้อซักถาม และสนับสนุนข้อมูลด้านผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการลักลอบทิ้งของเสียสารเคมีที่เกิดขึ้น พร้อมลงพื้นที่โกดังเก่าไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ 5 หลัง ที่มีการลักลอบเก็บสารเคมีวัตถุอันตรายหลายชนิด ราว 4,000 ตัน ตั้งอยู่ในอ.ภาชี
นายจุลพงษ์ กล่าวว่า กรอ.กำกับดูแลการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จำแนกโรงงานเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator: WG) และผู้รับดำเนินการ (Waste Processor: WP) ต้องขออนุญาตและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามที่กฎหมายกำหนด โดย กรอ. รับผิดชอบการอนุญาตโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่กรุงเทพมหานคร และผู้รับดำเนินการที่ไม่ใช่โรงงาน ส่วนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะรับผิดชอบการอนุญาตสำหรับโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ รวมจำนวนทั้งหมดประมาณ 63,000 โรงงานทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานเพียงไม่กี่แห่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อให้เกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทำลายภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรม
กรณีโกดังดังกล่าวที่มีการลักลอบเก็บสารเคมีวัตถุอันตรายหลายชนิดโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ทำให้ไม่มีสภาพโรงงาน กรอ. จึงใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการยึดของเสียสารเคมีส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 และจัดการเก็บ (clean up) น้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีที่รั่วไหลในพื้นที่โกดังและบริเวณรอบโกดัง โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ตลอดจนดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเชื่อมโยงความผิดไปถึงเจ้าของกากสารเคมี
โดยระหว่างขั้นตอนดำเนินคดี กฎหมายกำหนดให้เจ้าของโกดังในฐานะผู้ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเบื้องต้น กรอ. จึงออกคำสั่งให้เจ้าของโกดังนำของเสียอันตรายทั้งหมดออกไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และให้สั่งฟ้องดำเนินคดีต่อเจ้าของกากสารเคมีต่อไป ทั้งนี้ เจ้าของโกดังไม่สามารถดำเนินการกำจัดบำบัดตามคำสั่งในเวลาที่กำหนดได้ ทำให้ #ภาครัฐต้องเข้าดำเนินการแทน
ด้านความคืบหน้าการดำเนินการ กรอ. จัดทำคำของบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้รับการอนุมัติจำนวน 6,900,000 บาท ซึ่งจะนำมาใช้ในการนำของเสียสารเคมีดังกล่าวออกไปกำจัดบำบัด #เฟสแรกดำเนินการในส่วนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ควบคู่การขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อกำจัดบำบัดของเสียสารเคมีทั้งหมดในระยะถัดไป คาดว่าต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนก็บูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหา และป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดมาตรการดูแลความช่วยเหลือให้แก่ประชาชน
“ปัญหาเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไข ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทุกนาที ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ขั้นตอนการดำเนินการต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่ง กรอ. พยายามเดินหน้าแก้ไขอย่างเข้มข้น อาทิ ขอจัดตั้ง #กองทุนอุตสาหกรรม สำหรับเป็นงบประมาณที่พร้อมดำเนินการได้ทันท่วงที ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้ง #เพิ่มบทลงโทษทางกฎหมาย ให้เกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำความผิดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะเช่นเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่น มุ่งการรักษาวิถีชีวิต สร้างความเชื่อมั่นแก่การลงทุน ส่งเสริมพัฒนาชุมชน และเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน” นายจุลพงษ์เน้นย้ำ