แบงก์ชาติ ชี้ บริโภคเอกชนหนุนเศรษฐกิจ ต.ค.ฟื้น ลุ้นนักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่ม หลังยอดเริ่มแผ่ว

ธปท. เผย ‘บริโภคเอกชน’ หนุนเศรษฐกิจเดือน ต.ค.ฟื้น ลุ้น นทท.เข้าไทยเพิ่มหลังยอดเริ่มแผ่วลง

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธปท. เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภค ขยายตัว 1.7% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนติดลบ 1.3% ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมาตรการรัฐบาลในด้านค่าครองชีพ และการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัว 1.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ติดลบ 1.6%

ขณะที่ภาคบริการ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวนับโดยรวมจากมกราคม-ตุลาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 22.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านคน จากเดือนกันยายน อยู่ที่ 2.1 ล้านคน แต่หากปรับฤดูกาลพบนักท่องเที่ยวลดลงที่ 1.4% สาเหตุจากนักท่องเที่ยวรัสเซียลดลง และนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ประกาศวันหยุดของประเทศเดือนพฤศจิกายน จึงต้องรอนักท่องเที่ยวเข้าไทยก่อน

ขณะเดียวกัน รายรับจากการท่องเที่ยวลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักที่ลดลง ส่งผลต่อดัชนีผลผลิตภาคบริการหดตัวที่ 0.3% จากเดือนก่อนที่ 1.3% หลักๆ มาจากธุรกิจสินค้า และการขนส่งสินค้าที่ลดลง

Advertisement

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำอยู่ที่ 5.7% ลดลง 1.4% หลักๆ เป็นการเร่งส่งออกไปมากในเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ

น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงที่ 0.31% จากเดือนก่อนที่ 0.30% จากหมวดพลังงานและอาหารสด ตามมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐและราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลง ประกอบกับผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 0.66% ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 0.63% ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจาก 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลการค้าที่ลดลงตามมูลค่าการส่งออกสินค้า และดุลบริการรายได้และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นตามรายจ่ายค่าบริการ โดยคาดการณ์ ดุลบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม 2566 อยู่ที่ 3.5 พันล้านเหรียญทอง คาดการณ์ทั้งปีนี้จะเกินดุล 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

”แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายน และระยะถัดไป โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่ายังคงขยายตัว โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว ระยะต่อไป ต้องติดตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้า ผลกระทบของเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร และผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่อราคาพลังงาน“ น.ส.ชญาวดีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image