“กอบศักดิ์” ตัวช่วย “สมคิด” เปลี่ยน Platform ศก.ใหม่

ในยุคแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแบบฉบับ “ประชารัฐ” เป็น 3 ประสานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีตัวแทนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ใต้ฟ้าเมืองไทยร่วมหัวจมท้ายแก้วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นปรากฏการณ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” 1 ในคณะกรรมการประชารัฐ อดีตนายแบงก์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงสั้น ๆ 

ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พ่วง ในตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อาสาอธิบายการขับเคลื่อน “ประชารัฐ” ในปี 2559

เอกชนมักถูกมองว่าเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากรัฐมากกว่า

ประชาชนจะมองว่าเอกชนเป็นนายทุน นายทุนก็จะมองประชาชนว่าเป็นเอ็นจีโอ (หัวเราะ) ต้องก้าวข้ามจุดนั้น ต้องมาทำงานร่วมกัน 

Advertisement

ที่ผ่านมาบางเรื่องเอกชนก็หลอกรัฐบาลไว้ แต่รัฐบาลนี้เดินคู่กับเอกชนยังไว้ใจเอกชนได้อยู่หรือไม่

สุดท้ายต้องทำงานเป็นทีม ตัวเองมาจากเอกชน รู้จักทุกคน ประชารัฐคือการขอเอกชนให้ทำเพื่อประชาชน ให้เอกชนเอาทรัพย์สินที่มีมาให้ประชาสังคม ไม่ใช่มาเอาที่เรา คนเข้าใจผิดว่าประชารัฐเป็นการให้เอกชนมาขอรัฐบาล ไม่ใช่ แต่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยปลดล็อกให้เอกชนในสิ่งที่เป็นอุปสรรค ให้ทำงานร่วมกันได้ เราต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไทย นักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทยหลายคนสละเวลามาประชุมกันหามรุ่งหามค่ำ

สปท.จะออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดทางการค้าอย่างไร ในเมื่อธุรกิจรายใหญ่ที่อยู่ในคณะกรรมการประชารัฐ

เร็ว ๆ นี้กฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าจะออกมา ไม่นานเกินรอ เพราะมีคนจับตามองมาก

สปท. จะทำอย่างไรเป็นรูปธรรมจับต้องได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย คือ กฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎหมายหลายฉบับอยู่มาเป็นสิบปี ถ้าเราสามารถใช้เวลาขับเคลื่อนรากฐาน แนวคิด และร่าง พ.ร.บ.ต่าง ๆ ได้ จะเป็นการวางรากฐานของประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เสียดายร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ไม่ผ่านความเห็น เพราะได้ทำสิ่งที่เป็นหัวใจด้านเศรษฐกิจไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ มันมีเพชรในตมเยอะแยะเลย ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นออกมาได้จะสามารถพลิกโฉมประเทศได้ 

หวังว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะถูกเก็บไว้ 

เป็นทั้ง สปท. และผู้ช่วยรองนายกฯสมคิด และคณะกรรมการประชารัฐ งานในหน้าที่เหลื่อมล้ำกันและกันหรือไม่

 

ต้องเชื่อมกันโยงกัน รัฐบาลแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์เฉพาะหน้า และวางรากฐานก่อนโรดแมปรัฐบาลจะสิ้นสุดลง (1 ปี 6 เดือน) เช่น อุตสาหกรรมใหม่และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ สปท. คือ การร่างกฎหมายดี ๆ ให้กับประเทศ วางกรอบระยะกลาง-ระยะยาว

เช่น กฎหมายเกี่ยวกับ Green Industry (เทคโนโลยีสะอาด) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ-การเงินฐานล่าง ธนาคารที่ดิน วางกรอบและปรับปรุงระบบทรัพย์สินทางปัญญา 

ส่วนประชารัฐมาช่วยคิดว่ามีปัญหาร่วมกัน 3 ฝ่าย อะไรที่เอกชนช่วยขับเคลื่อนได้ อาจมีข้อเสนอ แต่คนทำให้เป็นผล คือ รองนายกฯ ส่วน สปท.ทำกฎหมายให้ 

แบ่งเวลาอย่างไร ในเมื่อเป็นถึง 3 ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน

 

ตอนนี้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพแล้ว สมัยรับงาน 3 ตำแหน่ง ก็ทำงานแบบนี้ ซึ่งงานในตำแหน่งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานหนักที่สุดในชีวิต เพราะต้องประชุมตลอดเวลา เหนื่อยมาก แต่เป็นงานที่สำคัญที่สุด 

ปัจจุบันถึงแม้จะเป็น สปท.แต่ สปช.มีผลการศึกษาเรื่องการปฏิรูปไว้แล้ว เป็นการขับเคลื่อนของเดิม ไม่ยาก ส่วนเวลาที่เหลือก็มาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี 

ทำอะไรบ้างในตำแหน่งผู้ช่วยรองนายกฯสมคิดได้อย่างไร

 

มาช่วยงานต่าง ๆ ที่รองนายกฯทำอยู่ตามที่ได้รับมอบหมาย ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้งานที่ทำเคลื่อนไปข้างหน้าและเกิดขึ้นจริง ในระยะเวลาที่จำกัด เช่น Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) ถ้าวางกรอบการทำงานได้ดี มีมือมีไม้ช่วยจะสามารถทำงานได้มากขึ้นตามที่ตั้งใจไว้ 

ปี”59 รัฐบาลบอกว่าเป็นปีแห่งการลงทุน ทำอย่างไรให้เอกชนมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นจริง

ช่วงหลัง ๆ จะเห็นว่าโครงการลงทุนที่รัฐบาลเคยพูดไว้หลายเรื่อง รัฐบาลไม่ได้ทำ ทำให้คนคิดว่าพูดมาก็อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่ผมคิดว่ารัฐบาลนี้…พูดแล้วทำ 

นอกจากการประมูล 4G แล้ว ต่อไปจะมีโครงการอื่นจะทยอยออกมา เช่น โครงการสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งมีนัยอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นโครงการใหญ่ที่ทุกคนจับตา แต่ไม่เคยเกิดการขับเคลื่อน 

คนไทยไม่ค่อยเชื่อเหมือนกัน (หัวเราะ) ว่ามันจะเกิดขึ้น แต่มันกำลังเกิด (เน้นเสียง) เมื่อเห็น 3-4 โครงการทยอยออกมา ตั้งแต่ไตรมาส 1-2 ปีนี้จะเริ่มเปลี่ยนมุมมองเพราะเอกชนโดนหลอกมาตลอด จึงคิดว่าจะมาหลอกฉันอีกหรือเปล่า 

สำคัญกว่านั้นเอกชนกำลังมาช่วยเข็นเศรษฐกิจ ขณะที่ในอดีตรัฐบาลเป็นคนเข็น ต้องพยายามทำให้คนเชื่อว่านโยบายต่าง ๆ จะไปได้ จะเป็นการเข็นร่วม (หัวเราะ) ระหว่างรัฐกับเอกชนและประชาสังคมได้ประโยชน์

ทุกคนยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยไปได้ แต่เราอยู่ในช่วงของการรอดู ซึม ๆ ทำให้สิ่งที่ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่เกิดขึ้น 

เมื่อดูเครื่องยนต์แต่ละตัวแล้วน่าจะคึกคักกว่าปีที่แล้ว ปี”59 ที่สำคัญกว่าการเจริญเติบโต คือ การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย…ช่วงหลังเศรษฐกิจไทยโตเพียง 2-3% 

เป็นเพราะช่วงหลัง ๆ เราไม่ได้สร้าง ไม่ได้ลงทุน ไม่ได้เปลี่ยนแพลตฟอร์ม เปรียบเหมือนสินค้าเราขายโนเกียรุ่นเก่า หน้าจอขาวดำ ขายได้ แต่ขายไม่ดี ต้องกลับมานั่งคิดว่า ถ้าขาย

ของเดิมไม่ได้ จะสร้างของใหม่อย่างไร 

ถ้าใช้ปีนี้ลงทุนรถไฟรางคู่ รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น ถนน รถไฟความเร็วสูง สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 คลื่นความถี่ 4G วางโครงข่ายต่าง ๆ เขตเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมใหม่ ภายใน 2 ปีให้หลังประเทศ

ไทยจะมีโครงข่ายใหม่ แพลตฟอร์มใหม่แล้วค่อยไปทำเป้ากัน จีดีพี 5% ไม่เกินเอื้อม 

โครงการลงทุนในครึ่งปีหลังเอกชนมั่นใจหรือยังว่าจะเกิดขึ้นจริง

ฝ่ายรัฐได้สัญญากับเอกชนว่า โครงการต่าง ๆ จะออกมา เอกชนก็บอกว่าจะช่วยโดยนำความสามารถของเอกชนมาช่วย มันเหมือนการชักเย่อ 1, 2, 3 ดึงพร้อมกันมัน มีพลัง เพราะเมื่อรวมเป็นคณะกรรมการประชารัฐจำนวน 12 ชุดแล้ว แต่ละคนก็จะเน้นไปในส่วนที่สำคัญ ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของภาครัฐ คือ สัญญาแล้วไม่ทำ จึงต้องทำให้เห็น

ว่าถึงเวลาตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งโครงการใหญ่ ๆ รวมถึงรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปี”59 ตามเป้าหมายของรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image