ผู้เขียน | สุโชติ ถิรวรรณรัตน์ |
---|
ตลาดหุ้นไทยกำลังจะพ้นช่วงที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี
บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะพูดถึงประเด็นการลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องจากบทความในเดือนก่อนหน้าที่ผมประเมินไว้ว่าช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกที่ดีๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยหนุนภาพรวมการลงทุนให้มีความหวังที่ดีขึ้นบ้าง หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปี 2566 ซึ่งเป็นอีกปีที่เลวร้ายกำลังจะผ่านพ้นไป
ปี 2566 ตลาดหุ้นไทย เผชิญปัจจัยลบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในประเทศเองที่ชะลอตัวลง อาทิ เม็ดเงินลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าช้า เนื่องจากการเกิดสุญญากาศในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนยังต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมากกว่าคาด ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนดูเหมือนยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศจีนได้ในทันที ต้นทุนทางการเงินที่ปรับสูงจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบให้นักวิเคราะห์ทำการทยอยปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนลงมาอย่างต่อเนื่องแทบจะตลอดทั้งปี นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสหรัฐที่เข้มงวดต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2566 ซึ่งถือว่าผิดจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันสภาพคล่องในตลาดการเงินทั่วโลกและมีส่วนที่กดดันให้อัตราส่วน PE ของตลาดหุ้นไทยลดลง (ตามทฤษฎี Valuation) เมื่อประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลง รวมกับอัตราส่วน PE ที่ลดลงทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
สำหรับประเด็นเรื่องของกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ถูกปรับลดประมาณการฯลงแล้ว ยังมีปัจจัยที่กดดันให้กำไรต่อหุ้นของ SET index ถูกกดดันอีกทางด้วย คือ จำนวนหุ้น IPO ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหุ้น IPO ที่เข้ามาจดทะเบียนใน SET index ในระยะหลัง มักที่จะ i) ตั้งราคา IPO ในระดับ PE ratio ที่ค่อนข้างสูง และ ii) กำไรที่รายงานหลังจาก IPO ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ คำถามคือ แล้วหุ้น IPO เข้ามาจำนวนมากส่งผลต่อ EPS ของ SET index ได้อย่างไร ผมขออธิบายอย่างง่ายๆ คือ การคำนวณหา PE ratio ของดัชนี SET index เราจะทำการคำนวณทางอ้อม เนื่องจากเราไม่สามารถคำนวณหา EPS ด้วยวิธีปกติเหมือนบริษัทจดทะเบียนทั่วไปที่จะนำเอากำไรหารด้วยจำนวนหุ้นได้ (เพราะ SET index ไม่มีจำนวนหุ้น) โดยเราจะนำเอามูลค่าตลาดรวมของ SET index (หรือ Market cap) หารด้วยกำไรของบริษัทจดทะเบียนรวมทุกตัว จะได้เป็น PE ratio และหลังจากนั้นจึงนำเอาดัชนี SET index มาหารด้วย PE ratio ดังกล่าว ก็จะได้เป็น EPS ของดัชนี SET index ดังนั้นหุ้น IPO ที่เข้ามาใหม่ด้วย PE ratio สูง และกำไรที่รายงานหลังการ IPO ต่ำกว่าคาด จึงเป็นอีกปัจจัยที่กดดัน EPS ของดัชนี SET index ในอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูล Bloomberg consensus ประมาณการฯ EPS ปี 2566 ปัจจุบันอยู่ที่ราว 86 บาทต่อหุ้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี เพียง 2% เท่านั้น กล่าวคือหากมองในมุมนี้ EPS ของตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่เติบโตเลย แม้ว่ากำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่กดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทย ที่มีต่อตลาดทุน (ทั้งตลาดหุ้นสามัญและตลาดหุ้นกู้) จากกรณีหุ้น STARK และหุ้น MORE ความเชื่อมั่นที่หดหาย ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของตนเองได้ เช่นกรณีของหุ้น JKN เป็นต้น
อย่างไรก็ดีล่าสุดที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ แต่ได้ทำการส่งสัญญาณโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567 ลงถึง 3 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดจากการประชุม FOMC หลายครั้งล่าสุด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับขึ้นขานรับการส่งสัญญาณนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงแล้ว ซึ่งผมประเมินว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็จะเริ่มทยอยส่งสัญญาณที่ใกล้เคียงกับธนาคารกลางสหรัฐตามกันมาในไม่ช้า ประเด็นนี้จะเป็นการปลดล็อกสภาพคล่องทางการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองด้วย ที่ผมประเมินว่ามีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มพิจารณาเรื่องนโยบายการเงินหลังจากที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินลงมาบ้างแล้ว
รวมทั้งประเด็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นบ้างเทียบกับฐานที่ต่ำมากในปี 2566 โดยเฉพาะคาดว่าจะมีผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเข้ามาในปี 2567 ผมจึงยังคงแนะนำให้ทยอยซื้อสะสมหุ้นในช่วงปลายปีนี้ เพื่อคาดหวังการฟื้นตัวในต้นปีหน้า แต่การลงทุนในปี 2567 ปัจจัยที่ต้องระวังคือโอกาสที่สหรัฐอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession และจะกระทบต่อการลงทุนโดยรวมได้
สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทยจำกัด (มหาชน) หรือ KGI