ดีเดย์ 2 ม.ค. 67 เริ่มใช้แพคเกจอีวี3.5 ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารับส่วนลดสูงสุด 1 แสนบาท

ดีเดย์ 2 ม.ค. 67 เริ่มใช้แพคเกจอีวี3.5 ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารับส่วนลดสูงสุด 1 แสนบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ อีวี 3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (2567 – 70) เริ่มวันที่ 2 มกราคม 2567 ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวี ให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค บรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 รักษาอันดับ 1 อาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก ดึงบริษัทรถยนต์รายใหม่เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศเพิ่มเติม ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สิทธิประโยชน์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่

นายนฤตม์ กล่าวว่า กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาทต่อคันในปีที่ 1 75,000 บาทต่อคันในปีที่ 2 และ 50,000 บาทต่อคันในปีที่ 3-4 สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาทต่อคันในปีที่ 1 35,000 บาทต่อคันในปีที่ 2 และ 25,000 บาทต่อคันในปีที่ 3-4 กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาทต่อคัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาทต่อคัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ

นอกจากนี้จะมีการลดอากรขาเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูxราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ช่วง 2 ปีแรก (2567 – 68) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการ อีวี3 แล้ว เข้าร่วมมาตรการ อีวี3.5 ได้แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ

Advertisement

“ภายใต้มาตรการ อีวี3.5 กรมสรรพสามิตคาดว่าจะมียานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนตลอดระยะเวลา 4 ปี ประมาณ 830,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 454,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 346,000 คัน และรถกระบะไฟฟ้า 30,000 คัน และคาดว่าจะใช้งบประมาณ 34,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี”นายนฤตม์กล่าว

นายนฤตม์ กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ อีวี 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อให้ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2566 สามารถยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือนมกราคม 2567

นอกจากนี้บีโอไอจะร่วมกับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน จัดการประชุมผู้ประกอบการรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของมาตรการ อีวี 3.5 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ วันที่ 22 ธันวาคมนี้ ที่อาคาร CW Tower ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image