อีซี่ อี-รีซีท กระตุกคนรวยเปย์ช่วยชาติ หวัง ศก.บูม 7 หมื่นล้าน

อีซี่ อี-รีซีท กระตุกคนรวยเปย์ช่วยชาติ หวัง ศก.บูม 7 หมื่นล้าน

ใกล้หมดปีเก่า 2566 เตรียมก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2567 ปีมะโรง หรือปีมังกรทอง ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

รัฐนาวาของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เตรียมของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ที่โดดเด่นสุดคือ มาตรการลดค่าครองชีพ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ

กระทรวงการคลัง เตรียมมาตรการใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ คือ มาตรการ อีซี่ อี-รีซีท (Easy E-Receipt) โดยให้สิทธิผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ที่ใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน5 หมื่นบาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร ซึ่งครั้งนี้ จำกัดเพดานการใช้จ่ายสูงขึ้นมากกว่ามาตรการอื่นๆ ที่คล้ายกันในรัฐบาลที่ผ่านมา

⦁คลังหวังเติมจีดีพี0.18%
สินค้าที่ไม่ร่วมโครงการ ได้แก่ 1.ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 2.ค่าซื้อยาสูบ 3.ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 4.ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 5.ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ต 6.ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567) เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ และ 7.ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

Advertisement

โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้ข้อมูล รัฐบาลประเมินปี 2567 มีผลกระทบเรื่องการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ที่ล่าช้า กว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ คือ ประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 ประกอบกับในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 1 เชื่อมไปสู่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 อาจจะมีปัญหาได้ เพราะเป็นช่วงที่พ้นไฮซีซั่นไปแล้ว การออกมาตรการกระตุ้นอย่างโครงการ อีซี่ อี-รีซีท จึงจำเป็น

กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการอีซี่ อี-รีซีท จะกระตุ้นเศรษฐกิจเม็ดเงิน 7 หมื่นล้านบาท ช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 0.18% ต่อปี คาดการณ์สูญเสียภาษีหลักพันล้าน ไม่เกินหมื่นล้านบาท ไม่มีนัยยะสำคัญต่อรายได้ภาษีของประเทศ

⦁เอาใจฐานบนช้อปกระเตื้องศก.
ส่วนประโยชน์ของการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงมาตรการ 1.ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรการอีซี่ อี-รีซีท สำหรับปีภาษี 2567 ซึ่งมีกำหนดการ ภ.ง.ด.90/91 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2568-31 มีนาคม 2568 2.ลดภาระการจัดเก็บเอกสารประกอบการยื่นแบบ และ 3.ใบกำกับภาษีที่ได้รับมีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบความถูกต้องได้ทันที ไม่มีความเสี่ยงจากการได้รับใบกำกับภาษีปลอม

Advertisement

“ประชาชนที่อยู่ในระบบภาษี เข้าร่วมโครงการอีซี่ อี-รีซีทได้ทุกราย รัฐบาลไม่ปิดกั้นหากจะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ขณะที่ประชาชนรายได้เกินเกณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือมีรายได้ 7 หมื่นบาทขึ้นไปนั้น จะได้เงินหักลดหย่อนภาษี จากโครงการอีซี่ อี-รีซีท บนฐานภาษี 20% ดังนั้น ใช้จ่าย 5 หมื่นบาท จะได้ลดหย่อนสูงสุด 20% ของการใช้จ่าย หรือคือ 1 หมื่นบาท เท่ากับโครงการเงินดิจิทัล” จุลพันธ์เน้นย้ำ

ด้าน ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ เศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยธรรมชาติ ไม่มีมาตรการกระตุ้นตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลเดือนกันยายน 2566 แต่มีมาตรการสำคัญคือการลดค่าครองชีพประชาชน ค่าไฟ ดีเซล ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ส่งเสริมการท่องเที่ยว คือมาตรการฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้วางแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตัวหลัก คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท คาดใช้เดือนพฤษภาคม 2567 และคาดหวังงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ขับเคลื่อน แต่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปี 2567 กว่าจะผ่านกระบวนการและออกมาบังคับใช้ได้ คือเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567

⦁ม.หอค้าประเมินสะพัดสูงสุด5หมื่นล้านบาท
ธนวรรธน์ระบุอีกว่า นับตั้งแต่รัฐบาลเก่าประกาศยุบสภามีนาคม 2566 ต่อมามีนายกรัฐมนตรีเดือนสิงหาคม มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขับเคลื่อนงานกันยายน 2566 แต่ขาดแรงสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น กว่าจะถึงพฤษภาคม 2567 โครงการอีซี่ อี-รีซีท จะเป็นโครงการแรกในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

“กลุ่มที่อยู่ในฐานเสียภาษีตั้งแต่ 10-35% ของเงินได้น่าจะใช้สิทธินี้ และคนที่ได้รับประโยชน์มากสุด คือ คนที่ค่อนข้างมีรายได้สูงตั้งแต่กลุ่มเสียภาษี 20% ขึ้นไป จะใช้จ่ายตามมาตรการเต็มจำนวนคือ 5 หมื่นบาทต่อคน ส่วนคนที่เสียภาษีต่ำกว่า 20% อาจใช้หรือไม่ใช้สิทธิก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใช้สิทธิลดหย่อนอื่นมากแค่ไหนแล้ว ดังนั้น ทั้งโครงการคาดคนเข้าร่วม 5 แสน-1 ล้านคน เม็ดเงินหมุนเวียน 3-5 หมื่นล้านบาท ขับเคลื่อนจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.1-0.3% ต่อปีในไตมาสที่ 1 ของปี 2567”

⦁ย้อนรอยรบ.เก่าลดหย่อนภาษีปลุกเศรษฐกิจ
ย้อนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการหักลดหย่อนภาษี พบว่าเป็นหนึ่งในของขวัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ริเริ่มมาตั้งแต่ 2558 หรือสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในชื่อ ช้อปช่วยชาติ ปี 2558-2560 คาดสร้างเม็ดเงินสะพัด 2.25 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือราว 0.15% ของจีดีพีต่อปี ส่วนช้อปช่วยชาติปี 2561 รัฐบาลมีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้มาตรการไม่ประสบผลสำเร็จนัก คาดเม็ดเงินสะพัดเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.07% ต่อจีดีพี

ปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ริเริ่มมาตรการใหม่ ชื่อว่า ชิมช้อปใช้ เพิ่มในส่วนของการแจกเงินของรัฐเข้าไปด้วย 1,000 บาท คาดยอดใช้จ่าย 2.8 หมื่นล้านบาท ก็จริง แต่มาจากส่วนที่รัฐบาลแจกเกือบทั้งหมด ไม่ใช่การใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อลดหย่อนภาษียอดจึงไม่ถึงเป้า 6 หมื่นล้านบาท และปี 2563 กลับสู่โครงการลดหย่อนภาษีเต็มอีกครั้ง ในชื่อ ช้อปดีมีคืน ปีแรก คาดเม็ดเงิน 1.11 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.71% ของจีดีพี การใช้จ่ายที่สูงอาจเพราะให้เวลาใช้สิทธิมากที่สุดคือ 2 เดือน กับอีก 7 วัน จากโครงการอื่นไม่เกิน 1 เดือน

ต่อมาปี 2564 ออกมาตรการใหม่ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ตั้งเป้ามีคนใช้จ่าย 4 ล้านคน เมื่อจบโครงการกลับมีเพียง 9 หมื่นกว่าคน คาดเม็ดเงินสะพัด 3,822 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ฟื้นมาตรการช้อปดีมีคืนอีกครั้ง คาดเม็ดเงินสะพัด 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.29% ต่อจีดีพี และปี 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทิ้งทวนมาตรการช้อปดีมีคืนอีกครั้ง เริ่มยื่นภาษี 1 มกราคม 2567 คาดว่าใกล้เคียงปี 2565

ส่วนโครงการของรัฐบาลเศรษฐา ที่กำลังเดินหน้า ต้องรอผลมาตรการในปี 2568

ถือเป็นมาตรการคุ้นชินไม่มีไม่ได้ มาลุ้นกันว่า “อีซี่ อี-รีซีท” จะปลุกพลังใช้จ่ายได้ไกลแค่ไหน?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image