อสังหาว้าวุ่น สต๊อกพุ่ง 9.8 แสนล้าน คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ บ้านหรู ขายฝืด ราคาไม่เกิน 2 ล้านยอดดิ่งหนัก
วันที่ 25 ธันวาคม นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์(REIC) เปิดเผยว่าภาพรวมทั้งปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล คาดการณ์จะมีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่เข้าสู่ตลาด 94,732 หน่วย มูลค่า 493,516 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลง 13.4 % มูลค่าลดลง 10.3% แบ่งเป็นอาคารชุด 39,086 หน่วย มูลค่า 123,173 ล้านบาท บ้านจัดสรร จำนวน 55,646 หน่วย มูลค่า 370,343 ล้านบาท โดยโครงการที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 77,739 หน่วย มูลค่า 405,052 ล้านบาท ลดลง 18.3% มูลค่าขายได้ใหม่ลดลง 16.1% ซึ่งเป็นการขายได้ใหม่ของอาคารชุด 32,864 หน่วย มูลค่า 125,505 ล้านบาท และบ้านจัดสรร 44,875 หน่วย มูลค่า 279,548 ล้านบาท และคาดจะมีที่อยู่อาศัยเหลือขาย ณ สิ้นปี 2566 จำนวน 198,282 หน่วย มูลค่า 986,160 ล้านบาท แบ่งเป็นอาคารชุด 71,239 หน่วย มูลค่า 281,867 ล้านบาท และบ้านจัดสรร จำนวน 127,043 หน่วย มูลค่า 704,293 ล้านบาท
นายวิชัยกล่าวว่า ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 2566 ภาพรวมมีเปิดตัวใหม่เพิ่มมากกว่ายอดขายใหม่ในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยมีหน่วยเหลือขายที่เพิ่มขึ้นมากถึง 10% แต่พบหน่วยเปิดตัวใหม่บ้านจัดสรรมีเปิดตัวมากกว่ายอดขายได้ใหม่ถึง 2,463 หน่วย หรือกว่า 23.6% ขณะที่อาคารชุดเปิดตัวใหม่น้อยกว่ายอดขายได้ใหม่ 405 หน่วย หรือ 5.2 % แต่ยอดขายลดลง ทำให้ไม่สามารถดูดซับหน่วยเหลือขายที่เหลือสะสมมาจาก 6 ไตรมาสก่อนหน้าได้ ส่งผลให้ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีที่อยู่อาศัยเหลือขายทั้งสิ้น 195,059 หน่วย มูลค่ากว่า 1.014 ล้านล้านบาท เป็นอาคารชุด 38.3% หรือ 74,657 หน่วย เพิ่มขึ้น 18.1% มูลค่า 287,961 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.1% และบ้านจัดสรร 61.7% หรือ 120,402 หน่วย เพิ่มขึ้น 21.7% มูลค่า 726,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“จึงกล่าวได้ว่า ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 ได้เข้าสู่ภาวะที่มีการชะลอตัวของตลาดแล้ว ทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุด โดยมียอดขายภาพรวมลดลง 9.7 % กลุ่มที่มียอดขายลดมากระดับราคาไม่เกิน 2ล้านบาท ที่มียอดขายลดลงถึง 17.1 % ส่วนใหญ่เป็นอาคารชุดราคา 2.01-5 ล้านบาท รวมถึงทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวราคามากกว่า 10 ล้านบาท ที่มียอดขายลดลงเช่นกัน”นายวิชัยกล่าว
นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับทิศทางในปี 2567 มองว่ามีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ในปีหน้า โดยเชื่อว่าตลาดที่อยู่อาศัย จากปัจจัยบวกทั้งจากภาวะดอกเบี้ยที่มีทิศทางทรงตัวและอาจมีการปรับตัวลดลง การที่รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 และ 2567 เพื่อการใช้จ่ายงบประมาณในการลงทุนและการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามแผนงานของรัฐบาล
“เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีการสานต่อมาตรการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้ REIC เชื่อว่าปี 2567 ตลาดที่อยู่อาศัยน่าจะมีการฟื้นตัว โดยขยายตัวจากปี 2566 ขึ้นประมาณ 10% แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นว่าจะเป็นตามที่คาดการณ์หรือไม่”นายวิชัยกล่าว