‘ทิศทางการส่งเสริมและยกระดับธุรกิจ SME ไทย ของกระทรวงพาณิชย์’

‘ทิศทางการส่งเสริมและยกระดับธุรกิจ SME ไทย ของกระทรวงพาณิชย์’

ในปี 2565 ประเทศไทยมีธุรกิจ SME จำนวน 3,187,378 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศทั้งสิ้น 6.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.2% ของ GDP และเป็นแหล่งรองรับการจ้างงานให้แก่แรงงานกว่า 70% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ SME ไทยยังคงติดกับดักสัดส่วนอยู่ที่ไม่เกิน 34-35% ของ GDP มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงการมุ่งสู่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว กระทรวงพาณิชย์จึงมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ธุรกิจ SME มีสัดส่วนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 40% ของ GDP ให้ได้ภายในปี 2570 ให้เทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจ SME ต่างมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40-50% ต่อ GDP และมุ่งหวังว่าธุรกิจ SME จะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่ง

ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ศึกษาและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนทางการค้าของธุรกิจ SME ต่อกระทรวงพาณิชย์ โดยเชื่อมโยงกับองค์ประกอบของ GDP ทั้งการส่งเสริมการบริโภค (Consumption: C) การลงทุน (Investment: I) การใช้จ่ายภาครัฐ (Government Expenditure: G) และการส่งออก (Export: X) เพื่อนำไปใช้ต่อยอดสู่การจัดทำแผนงาน/โครงการสร้างโอกาสทางการค้าและยกระดับธุรกิจ SME ไทย และทำให้บรรลุเป้าหมายสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อ GDP ข้างต้น ดังนี้

Advertisement

(1) สร้างและขยายตลาดการบริโภคภายในประเทศ (Consumption: C) ผ่านการกระตุ้น

ให้ผู้บริโภคคนไทย ชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยว รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย ซื้อสินค้าและใช้บริการของธุรกิจ SME ให้มากขึ้น โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในย่านสำคัญของเมืองหรือจังหวัด

การนำสินค้าที่มีคุณภาพพรีเมียมไปวางจำหน่ายในศูนย์การค้า สนามบินนานาชาติ เช่น สินค้า GI สินค้า OTOP สินค้าวิสาหกิจชุมชน การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจทั้งแบบ B-to-B และ B-to-C ขณะที่ตัวธุรกิจ SME ควรพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งส่งเสริมให้ทำการตลาดและขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์/E-Commerce ใช้ระบบเทคโนโลยีในการบริหารงาน สร้างแบรนด์สินค้าที่มีจุดเด่น แตกต่าง รวมถึงจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา

Advertisement

(2) ส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs สามารถลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อนำไปใช้พัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มมูลค่าธุรกิจ (Investment: I) อาทิ การสนับสนุนเงินทุนภายใต้เงื่อนไขพิเศษเพื่อนำไปหมุนเวียนในกิจการ การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างธุรกิจ SME และระหว่างธุรกิจ SME กับนักวิจัย/นักพัฒนา การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทางตลาดทุน เพื่อเป็นทางเลือกในการหาแหล่งเงินทุนระยะยาว

(3) ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของธุรกิจ SME (Government Expenditure: G) โดยสนับสนุน “มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของธุรกิจในพื้นที่

(4) ส่งเสริมการขยายตลาดในต่างประเทศ (Export: X) ประกอบด้วย การหาตลาดผู้บริโภคให้แก่ธุรกิจ SME เช่น การนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การจัดงาน Expo ณ ศูนย์การค้าชื่อดังของต่างประเทศให้แก่ธุรกิจ SME การประชาสัมพันธ์ตรา Thailand Trust Mark (T-Mark) ให้เป็น soft power ด้าน branding เพื่อสร้างการยอมรับในตราที่แสดงถึงความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ และการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถเข้าสู่ตลาดสากล อาทิ ผลักดันธุรกิจให้ได้รับมาตรฐานระหว่างประเทศ ทั้งในระดับองค์กร และสินค้า/บริการ พัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA การนำสินค้าจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริม Cross-Border E-Commerce นอกจากนี้ ควรเพิ่มบทบาทงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการสนับสนุนให้ธุรกิจ SME ไทย สามารถขยายตลาดสินค้าไปยังต่างประเทศได้

นอกจากนี้ ควรพัฒนาและยกระดับให้ธุรกิจขนาดเล็กเป็นธุรกิจขนาดกลาง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับสากล สามารถใช้ประโยชน์จากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เชื่อมโยงธุรกิจกับห่วงโซ่อุปทานโลกได้ง่ายและเร็วกว่าธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ดังนั้น การพัฒนาและยกระดับธุรกิจขนาดเล็กไปสู่การเป็นธุรกิจขนาดกลาง จะช่วยผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น และเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราเร่งที่ทำให้ไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

สำหรับแผนงานและกิจกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ SME อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทย ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เป็นประธาน ได้เห็นชอบ 9 โครงการ ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการสร้างโอกาสทางการค้าและยกระดับธุรกิจ SME ไทย ซึ่งสอดรับกับการศึกษาและข้อเสนอแนะที่ สนค.ให้ไว้กับกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ (1) โครงการเติมความรู้ SME (Upskill & Reskill) (2) โครงการสร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์ (3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ (4) โครงการเพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จัก (5) โครงการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อรักษาสมดุลราคา (6) โครงการพัฒนาร้านค้าโชห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ (7) โครงการส่งเสริมการเติบโต SME ในท้องถิ่นผ่าน THAI SME-GP (8) โครงการสนับสนุนและสร้างมาตรฐานธุรกิจ E-Commerce และ (9) โครงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นนครอัญมณีโลก

สำหรับ สนค.ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการให้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมการเติบโต SME ในท้องถิ่นผ่าน THAI SME-GP และให้ร่วมมือกับ สสว. หาแนวทางสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของธุรกิจในพื้นที่ สินค้าของชุมชน/ท้องถิ่น ให้มากขึ้น และให้วิเคราะห์ผลลัพธ์ของการดำเนินการมาตรการข้างต้น ทั้งนี้ ในส่วนภูมิภาคมีธุรกิจ SME อยู่ทั้งสิ้น 2,379,763 ราย อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก ตามลำดับ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีจุดแข็งอยู่ที่มีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จึงมีเครือข่ายการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่จะช่วยผลักดันและส่งเสริมโครงการนี้ให้เกิดผลสำเร็จและดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนงานส่งเสริมและยกระดับ SME ไทย ของกระทรวงพาณิชย์ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งในระยะสั้นที่จะส่งเสริมให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทต่อปี และเป้าหมายในระยะยาวที่จะทำให้สัดส่วนของมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 40% ต่อ GDP

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image