‘สามารถ’ โพสต์เตือน น็อตยึดรางแอร์พอร์ตลิงก์หลุด ยังเหลือจุดอันตรายนับ 100 จุด

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก เรียกร้องให้รีบแก้ไขปัญหาการซ่อมบำรุงระบบรางของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์โดยเร็ว โดยระบุว่า

ผมจำเป็นต้องเขียนถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อีกแล้ว หลังจากได้เห็นผลการประเมินความเสี่ยงการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์โดยบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ขอย้ำอีกครั้งว่า ผมไม่ต้องการให้ผู้โดยสารตื่นตระหนกตกใจ แต่ต้องการให้บริษัทฯเร่งแก้ไขโดยด่วน

หลังจากบริษัทฯได้ตรวจสอบสภาพความพร้อมของรางรถไฟฟ้าโดยการประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) เมื่อเดือนกันยายน 2559 แล้ว พบว่ามีอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางซึ่งมีน็อตเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งชำรุด กล่าวคือ น็อตหลุดหรือหักจำนวน 159 จุด ต่อมาในเดือนธันวาคม 2559 บริษัทฯได้ตรวจสอบอีกครั้ง ปรากฏว่าในจำนวน 159 จุดดังกล่าว มีจุดวิกฤตเกิดขึ้น 50 จุด (ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 59 จุด) ซึ่งบริษัทฯจะต้องลงมือซ่อมจุดวิกฤตทั้ง 59 จุดทันที มิฉะนั้นอาจทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้

ก่อนที่บริษัทฯจะว่าจ้างให้ผู้รับเหมามาทำการแก้ไข พบว่ามีบันทึกข้อความจากรักษาการผู้จัดการส่วนระบบไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน ถึงผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมซ่อมบำรุง ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2559 เพื่อขอความเห็นชอบดำเนินการจ้างซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางบริเวณทางโค้งของสถานีลาดกระบังโดยเร่งด่วน มีข้อความสำคัญบางตอนว่า

Advertisement

“1.อุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางบริเวณโค้งลาดกระบังเกิดความเสียหายในส่วนของ Anchor Bolt จากการหักและหลวม ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์ดังกล่าวมีอายุการใช้งานมากกว่า 7 ปี จึงเป็นเหตุให้ต้องให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยความเร็วที่ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในบริเวณดังกล่าว

2.การซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางบริเวณโค้งลาดกระบังที่เกิดความเสียหายจากการใช้งาน แผนกยังคงขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นในการซ่อมแซม อันเนื่องจากอุปกรณ์เครื่องมือตัวเก่าเกิดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา”

พร้อมกับเสนอให้ดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งไม่ต้องเปิดประมูลให้มีการแข่งขันกัน ที่สำคัญ บันทึกข้อความดังกล่าวมีผลการประเมินความเสี่ยงบริเวณโค้งลาดกระบังอันเป็นผลมาจากน็อตยึดรางหักหรือหลวมประกอบเพื่อการพิจารณาด้วย

Advertisement

ผลการประเมินความเสี่ยงเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 โดยคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงระบุไว้ดังนี้

1.กรณีจุดวิกฤตจำนวน 59 จุด

“หากไม่รีบเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้ความเสี่ยงเป็น Intolerable ซึ่งหมายถึงอันตรายสูงสุดที่อาจจะทำให้รถไฟเกิดการตกรางได้ในรอบ 1 เดือน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก”

ผลการประเมินนี้พอจะแปลความได้ว่า หากไม่รีบเปลี่ยนน็อตทั้ง 59 จุด จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่รถไฟฟ้าอาจจะตกรางได้ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โชคดีที่บริษัทฯ ได้เปลี่ยนอุปกรณ์ครบทั้ง 59 จุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

2.กรณีจุดอันตรายแต่ยังไม่วิกฤตจำนวน 100 จุด

“หากไม่รีบเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้ความเสี่ยงเป็น Undesirable ซึ่งหมายถึงอันตรายที่ยอมรับได้ โดยมีการควบคุมที่อาจจะทำให้รถไฟเกิดการตกรางได้ในรอบ 1 ปี และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก”

ผลการประเมินนี้พอจะแปลความได้ว่า จุดอันตราย 100 จุดดังกล่าว หากไม่รีบเปลี่ยนน็อตแต่มีการบริหารจัดการที่ดีเช่นลดความเร็วลง ก็อาจจะทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

ผมมีความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นอันตรายระดับใดก็ตาม Intolerable (สูง) หรือ Undesirable (ไม่พึงปรารถนา) ผู้โดยสารก็ยอมรับไม่ได้ทั้งนั้น อีกไม่นานจุดอันตราย 100 จุดที่บริษัทฯยังไม่ได้แก้ไขอาจจะยกระดับเป็นจุดวิกฤตก็ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่อาจจะทำให้รถไฟฟ้าตกรางภายใน 1 เดือนได้ตามผลการประเมินในข้อ 1

จะรออะไรล่ะครับ เร่งซ่อมจุดอันตราย 100 จุดที่เหลือโดยด่วน!

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ แอร์พอร์ตลิ้งก์ ได้ชี้แจงคำถามของนายสามารถมาแล้ว (คลิกอ่านที่นี่)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image