จับตาลือหึ่ง เปลี่ยนตัว ผอ.อคส. ‘เกรียงศักดิ์’ โชว์ผลงาน 3 ปี ปิดคดี เรียกเงินคืนหลวง 4 พันล้าน

จับตาข่าวลือ!! เปลี่ยนตัว ผอ.อคส. “เกรียงศักดิ์” โชว์ผลงาน 3 ปี ปิดคดี เรียกเงินคืนหลวงกว่า 4 พันล้าน

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงผลงาน 99 วันของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงองค์การคลังสินค้า(อคส.)ว่า ได้มอบนโยบายให้อคส.พัฒนาเป็นคลังสินค้าครบวงจรแบบภาคเอกชน และทำหน้าที่ในการดูดซับผลผลิตการเกษตร เพื่อเก็บและจำหน่ายในเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ขณะที่ในอคส.ยังมีความไม่ชัดเจน และมีกระแสข่าวลือต่อเนื่อง ล่าสุดมีกระแสการยื่นเรื่องเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้พิจารณาสรรหาผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ทั้งที่ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) คือ นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ยังทำงานอยู่

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวถึงผลดำเนินการหลังจากเข้าบริหารงานช่วง 3 ปี ว่า ผลประกอบการเฉพาะของ อคส. รายได้รวมเพิ่มขึ้นจากจำนวน 306 ล้านบาท ในปี 2562 เป็น 707 ล้านบาทในปี 2565 และผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างมั่นคง จากขาดทุน 157 ล้านบาทในปี 2562 เป็นขาดทุน 99 ล้านบาทในปี 2565 เป็นผลมาจากการลดรายจ่ายและเน้นธุรกิจคลังสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมากกว่าร้อยละ 85 ซึ่งรายได้คลังสินค้าประมาณ 73 ล้านบาทในปี 2565 ได้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 25 ปี

Advertisement

ส่วนปี 2566 ประมาณการว่าผลการดำเนินงานจะขาดทุน 70 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมประมาณ 718 ล้านและรายได้คลังสินค้าประมาณ 79 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นสถิติใหม่ในรอบ 25 ปี อีกครั้ง ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้นรวมสูงขึ้นจากร้อยละ 5.8 ปี 2563 เป็น ร้อยละ 12.1 ในปี 2566 ซึ่งสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จากความพยายามใช้พื้นที่คลัง ให้เกินประโยชน์สูงสุดและเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยมีอัตราการเช่าพื้นที่ (occupancy rate) สูงเกือบร้อยละ 98 หรือเกือบเต็มพื้นที่แล้ว จากเดิมที่ทำได้เพียงร้อยละ 59 ในปี 2563 และลดความเสี่ยงจากการซื้อสดขายเชื่อกำไรต่ำความเสี่ยงสูง ซึ่งประสบปัญหาเก็บเงินไม่ได้จากการขายในปี 2563 จำนวน 146 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ค่าเช่าคลัง 85 ล้านบาทในปี 2567 จากการเร่งใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างเปล่ารอบคลังและค่าธรรมเนียมท่าเทียบเรือ ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 25 ปี 3 ปีติดต่อกัน

สำหรับผลประกอบการรวมงานโครงการของรัฐบาล ขาดทุนลดลงจากจำนวน 11,793 ล้านบาท ปี 2562 เป็นขาดทุน 305 ล้านบาท ในปี 2565 มีผลขาดทุนสะสมรวมทุกโครงการของรัฐบาลจำนวน 584,337 ล้านบาท และคาดว่าจะขาดทุน 442 ล้านในปี 2566 ซึ่งเป็นภาระงานที่ไม่สร้างรายได้ให้ อคส. เนื่องจากได้รับรู้รายได้ค่ารับจ้างดำเนินการทั้งหมดในปีที่เริ่มโครงการรับจำนำ สะท้อนปัญหานโยบายการบัญชีที่ไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานดีเกินจริงไปในช่วงแรกและต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากว่า 10 ปีหลังจากนั้น ทั้งนี้ อคส. ได้นำส่งเงินกำไรให้รัฐบาลมากกว่า 1,039 ล้านในช่วงปี 2555-2557 แต่ไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานจากรัฐแม้แต่บาทเดียวร่วม 30 ปีแล้ว

ความคืบหน้าการดำเนินคดี แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ
1. คดีการทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้าน ทาง ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องโดยสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนคดีละเมิดฯได้ออกคำสั่งให้ชดใช้แล้วทั้ง 7 ราย อยู่ระหว่างเสนออัยการให้ดำเนินคดีทางแพ่ง และสำหรับคดีอาญาฟอกเงิน ทางสำนักคดีของ อคส. ดำเนินการประสานงานกับ ปปง เพื่อฟ้องดำเนินคดีต่อไป

Advertisement

2. คดีปกครอง(แพ่ง)จำนำข้าว 483 คดี ผลการพิพากษาในชั้นศาลปกครองกลาง อคส ชนะ 45 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 3,395 ล้านบาท และ อคส แพ้คดี 38 คดี ทุนทรัพย์ที่ต้องจ่าย 1,317 ล้านบาท ทั้งนี้การแพ้ชนะคดีจะเป็นลักษณะ แพ้ยกจังหวัด และชนะยกจังหวัด ซึ่งต้องอุทธรณ์ถึงชั้นศาลปกครองสูงสุดกันเลยทีเดียว

3. คดีมันสำปะหลัง 205 คดี ผลการพิพากษา อคส ชนะ 92 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 6,257 ล้านบาท และ อคส แพ้คดี 5 คดี ทุนทรัพย์ที่ต้องจ่าย 62 ล้านบาท โดยมี 3 คดีที่จำเลยเสียชีวิตในคดีอาญา อะตราการชนะคดีสูงมากกว่าร้อยละ 95 เลยทีเดียว

4.คดีข้าวโพด 12 คดี ผลการพิพากษา อคส ชนะ 3 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 278 ล้านบาท ไม่แพ้คดีเลย

5.คดีโครงการรัฐก่อนปี 2551 จำนวน 49 คดี ผลการพิพากษา อคส ชนะ 12 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 43 ล้านบาท และ อคส แพ้คดี 1 คดี ทุนทรัพย์ที่ต้องจ่าย 39 ล้านบาท ทั้ง 12 คดีอยู่ระหว่างการบังคับคดีและพิทักษ์ทรัพย์

นอกจากนี้ ยังมีคดีแรงงานอีก 34 คดี แบ่งเป็นกรณีพนักงานถูกไล่ออกจากคำสั่ง ป.ป.ท. จึงฟ้อง อคส. จำนวน 17 คดี (ตัดสินแล้ว 4 คดี อคส. แพ้ทั้ง 4 คดี) กรณีประเมินผลงานได้ ครึ่งขั้น จึงฟ้อง อคส. จำนวน 11 คดี (ตัดสินแล้ว 6 คดี อคส. ชนะ 5 คดี แพ้ 1 คดี) และกรณีอื่นๆจำนวน 6 คดี (ตัดสินแล้ว 3 คดี อคส. ชนะ 1 คดี และแพ้ 2 คดี)

ด้านการระบายข้าว ยังคงเหลือ คลังที่ต้องระบายใหม่จำนวน 15,013 ตัน เนื่องจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินมาจากฐานะการเงินไม่พร้อม ดังนั้น เมื่อนำกลับมาประมูลใหม่จึงได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องฐานะการเงินต้องเพียงพอที่จะชำระเพื่อรับมอบให้เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ได้ถูกทักท้วงในประเด็นดังกล่าว ทำให้การประมูลข้าวล่าช้าออกไปเกินกว่ากรอบเวลา 30 กันยายน 2566 จึงต้องนำเรื่องเข้า นบข. เพื่ออนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไป เรื่องระบายข้าวมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ได้แก้ปัญหาจนลุล่วงไปมาก เหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น และก่อนหน้านี้มีการยึดหน่วงถึง 3 แห่งด้วยกัน แต่ยังคงสามารถส่งมอบข้าวได้ในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีงานด้านการสอบสวนทั้งวินัยและความรับผิดทางละเมิดอีกมากกว่า 250 สำนวนที่ยังอยู่ระหว่างการแต่งตั้งและพิจารณา ซึ่งประสบปัญหาในการแต่งตั้งพนักงานเข้าปฏิบัติหน้าที่เนื่องมาจากจำนวนพนักงานมีไม่เพียงพอต่อจำนวนคณะที่จะต้องตั้ง รวมถึงความรู้และประสบการณ์งานด้านสอบสวน อย่างไรก็ตามได้ประสานหน่วยราชการอื่นเพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีลักษณะใช้เงินจ่ายขาดและทุนหมุนเวียนจำนวน 37 โครงการ ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2524 ได้สะสางปิดบัญชีและรับรองโดย สตง. เสร็จสิ้นแล้ว 3 โครงการ และอยู่ระหว่างการรับรองอีก 7 โครงการ ทั้งนี้ อคส. ได้นำส่งเงินจำนวนกว่า 4,305 ล้านบาทคืนแก่กองทุนฯดังกล่าวในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่สามารถสะสางงานเหล่านี้ได้สำเร็จ

คะแนนธรรมภิบาลและความโปร่งใส (ITA) ซึ่งมีการประเมินตั้งแต่ปี 2557 โดยที่ผ่านมา อคส ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์มาโดยตลอด ยกเว้น 3 ปีล่าสุด 2564-2566 ที่ อคส. ได้คะแนนสูงมากกว่าร้อยละ 93 และติด 1 ใน 3 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะล่าสุดปี 2566 อคส ได้เป็นอันดับ 2 ของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้การประเมินมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ ประเมินโดยพนักงาน คู่ค้าและ ปปช ซึ่ง อคส ได้คะแนนเต็มร้อยจาก ปปช มา 3 ปีติดต่อกัน

การทำงานใน 3 ปีที่ผ่านมาตามแนวทาง ซ่อม-สร้าง-เพิ่ม-สะสาง นับว่าเห็นผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมอย่างมาก แม้ว่าจะประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพบการทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง การข่มขู่คุกคามจากคนบางกลุ่ม การพยายามยกเลิกสัญญาจ้าง(ไล่ออก)อย่างไม่เป็นธรรม การตอบชี้แจงประเด็นต่างๆจากการร้องเรียนทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงการบริหารสภาพคล่องที่ต้องสำรองเงินสะสมกว่า 500 ล้านบาทไปกับค่าใช้จ่ายโครงการรัฐรวมถึงค่าธรรมเนียมศาลตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกรมบัญชีกลางไม่ขยายระยะเวลาการใช้เงิน แม้ว่าจะได้รับการอนุมัติจาก นบข. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้วก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image