ดีเดย์ ม.ค.67 แบงก์ ปรับเกณฑ์ชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% พร้อมเปิดทางเลือกแก้หนี้

ดีเดย์ ม.ค.67 แบงก์ ปรับเกณฑ์ชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% พร้อมเปิดทางเลือกแก้หนี้

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับลดการชำระอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำของบัตรเครดิต (minimum payment) ไปเมื่อช่วงโควิด-19 โดยปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำที่ 5% จากเดิม 10% ซึ่งมาตรการนี้จะสิ้นสุดในปี 2566 จากนั้นจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ 8% ในปี 2567 และ 10% ในปี 2568

เมื่อวันที่ 1 มกราคม น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากที่ผ่านมา เคยมีการปรับการชำระขั้นต่ำจาก 5% ขึ้นเป็น 10% ซึ่งเกิดผลกระทบต่อลูกหนี้ในวงกว้าง ขณะที่การชำระขั้นต่ำที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 โดยปรับจาก 5% เป็น 8% ก็อาจจะมีผลกระทบเช่นกัน

โดยในส่วนของธนาคารจะมีการสื่อสารกับลูกค้าและแจ้งเตือนลูกค้าล่วงหน้าอยู่แล้ว แจ้งให้ลูกค้าเตรียมตัวรับกับการชำระขั้นต่ำที่อาจจะต้องปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือจากการปรับโครงสร้างหนี้ หรือให้ลูกหนี้เปลี่ยนประเภทหนี้โดยแปลงเป็นสินเชื่อระยะยาว (Term loan) ทั้งนี้ ธนาคารประเมินความเสี่ยงไว้แล้ว

Advertisement

“ขณะนี้เศรษฐกิจเข้าสู่สถานการณ์ปกติแต่ยังมีคนที่ยังไม่หายไข้ดีและอยู่ในช่วงฟื้นตัว ธนาคารจะดูเป็นรายคนและมีการให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอด ลูกค้ารายไหนไปไม่รอดจริงๆ ก็ต้องตัดใจปล่อยไป แต่ไม่เป็นผลดีต่อลูกหนี้เพราะเครดิตเสียไป ดังนั้น ธนาคารจะดูแลลูกหนี้ให้พ้นจากสถานะหนี้เสียให้ได้” น.ส.ขัตติยากล่าว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผยว่า ธนาคารได้แจ้งประกาศปรับอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 8% จากเดิมที่ 5% โดยมีผลตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 แล้ว ซึ่งประเมินอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเดือนเป็นจำนวนไม่ได้เยอะมาก และไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะจัดการไม่ได้ สำหรับค่าเฉลี่ยลูกค้าของธนาคารมีสัดส่วน 65% เป็นลูกค้าที่จ่ายชำระไม่เต็มจำนวน และส่วน 35% เป็นลูกค้าจ่ายเต็มจำนวน

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าของธนาคารก็มีบางกลุ่มที่ลูกหนี้ไม่พร้อมจ่ายแต่ยังมีจำนวนไม่มาก โดยลูกค้าที่ต้องจ่ายที่ 8% คิดเป็น 5% ของจำนวนลูกค้าของธนาคารที่ 800,000 ใบ ขณะที่กลุ่มจ่ายขั้นต่ำ 8% ไม่ไหว ธนาคารมีมาตรการตาม ธปท.ออกมารองรับคือการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ขณะนี้ลูกหนี้ที่เข้ามาติดต่อว่าไม่สามารถแบกรับอัตราชำระขั้นต่ำ 8% ได้ยังมีจำนวนไม่มากนัก

Advertisement

“การชำระอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำของบัตรเครดิตเป็นขั้นลำดับมีผลกระทบน้อยกว่าการขยับขึ้นเป็น 10% ทีเดียว ซึ่งการปรับที่ละขั้นอย่างน้อยมีจังหวะให้ปรับตัว โดยผลกระทบจะเห็นได้จาก 3 เดือนแรกหลังการปรับระบบการชำระใหม่ ถ้าลูกหนี้ไปไม่ได้จะสะท้อนผลออกมาชัดเจน และถ้าลูกหนี้ผ่านจากระดับนี้ไปได้ ช่วงต้องจ่าย 8% เพิ่มขึ้นไป 10% จะไม่มีปัญหา“ นายฐากรกล่าว

ทั้งนี้ ส่วนการช่วยเหลือของธนาคาร หากลูกค้าจ่ายชำระขั้นต่ำที่ปรับขึ้นไม่ไหว ธนาคารจะแนะนำให้ลูกหนี้เปลี่ยนประเภทหนี้โดยแปลงเป็นสินเชื่อระยะยาว (Term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด และเจรจาเงื่อนไขกับธนาคารในการชำระหนี้ต่อไป และสำหรับลูกค้าที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อผ่านทุกช่องทางของธนาคาร หรือ ttb contact center 1428 และ www.ttbbank.com

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) กล่าวว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ พร้อมช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นหนี้เสียประเภทบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขโดยให้ดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี และระยะเวลาผ่อนนานสูงสุดถึง 10 ปี โดยมีทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ เป็น 3 ทางเลือก คือ ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี, ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี และผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี

สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้ ในปี 2566 มีจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ 17,000 ราย หรือกว่า 43,000 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 3,200 ล้านบาท  และหากนับตั้งแต่เปิดโครงการในปี 2560 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการสะสมอยู่ที่ 52,000 ราย หรือคิดเป็น 146,000 บัญชี  คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นที่เข้าร่วมโครงการรวมแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท

“ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ รวมทั้งการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน เพื่อให้การแก้ไขหนี้ทำได้สำเร็จ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีกในอนาคต ส่วนคนที่เป็นหนี้ ก็ไม่ควรละเลย  อย่ารอจนถูกฟ้องดำเนินคดี อายัดเงินเดือนหรือถูกยึดทรัพย์สินซึ่งจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายธรัฐพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image