‘อุ๊งอิ๊ง’ นั่งหัวโต๊ะบอร์ดซอฟต์เพาเวอร์ เคาะแก้ 3 เรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์

‘แพทองธาร’ นำประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ฯ แก้ 3 เรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แก้เซ็นเซอร์หนัง-พัฒนาเรตติ้ง กฎกระทรวง เตรียมผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.THACCA เข้าสภา

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 มกราคม ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีกรรมการเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาออกแบบ เป็นต้น

น.ส.แพทองธารแถลงภายหลังการประชุมว่า การประชุมซอฟต์เพาเวอร์ มีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยมี 3 เรื่องในการแก้ไขกระบวนการพิจารณาในเรื่องต่างๆ คือ 1.การแก้ไขกระบวนการพิจารณาเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วม พร้อมสนับสนุนเสรีภาพในการออกแสดงของสื่อและเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างเยอะ การเซ็นเซอร์ของภาพยนตร์ก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนมาหลายปี ถึงความไม่สมเหตุสมผลของกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงความไม่ชัดเจนของการพิจารณา วันนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์สาขาภาพยนตร์และซีรีส์ ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนใน 3 รูปแบบ คือ ส่วนที่ 1 คือการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ โดยจะเปลี่ยนแปลงทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่คณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ แต่งตั้งชุดใหม่ แทนชุด 2 ถึงชุด 6 ที่หมดวาระและรักษาการอยู่ในเวลานี้ โดยจะตั้งคณะกรรมการใหม่ 9 ชุด รวมกับชุดที่ 1 ที่ยังไม่หมดวาระ รวมเป็น 10 ชุด โดยจะแบ่งออกเป็นคณะพิจารณาภาพยนตร์ 8 ชุด และคณะพิจารณาด้านเกม 2 ชุด เพราะเกมและภาพยนตร์มีวิธีคิดและมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ต้องพิจารณาแยกกัน

“จุดสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคณะกรรมการพิจารณาต้องมีสัดส่วนของเอกชนมากกว่ารัฐบาล เพราะเอกชนเป็นผู้รู้จริงในของสาขาเฉพาะทาง ก็จะทำให้มีสัดส่วนของเอกชนมากขึ้น โดยการกำหนดประธานพิจารณาแต่ละชุดให้เป็นเอกชนที่มีคณะกรรมาธิการที่มาจากภาคเอกชน 3 คน และจากภาครัฐ 2 คน รวมเป็น 5 คน จากเดิมที่มีเอกชน 3 คนและภาครัฐ 4 คน การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนพิจารณาครั้งนี้ทำให้ภาพยนตร์ไทยได้รับการพัฒนาเรตติ้งที่จะสอดคล้องกับอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยการจัดเรตของคนดูจะเป็นเพียงตัวบอกว่าสิ่งใดเหมาะสม แต่จะไม่ใช่การควบคุมภาพยนตร์ไทยอีกต่อไป” นางสาวแพทองธารกล่าว
นางสาวแพทองธารกล่าวอีกว่า ส่วนที่ 2 คือการแก้ไขกฎกระทรวงที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างรอการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน สำหรับการการแก้ไขกฎกระทรวงที่มาจากประเภทเรตของภาพยนตร์ เราจะแก้ไขในส่วนของภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทย โดยภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทย จะเหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนประเด็นอื่นเรื่องศาสนา ความสามัคคี รวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ จะถูกจัดในเรตผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย ซึ่งกระบวนการแก้กฎกระทรวงอยูในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและคาดว่าการแก้ไขทั้งหมดนี้จะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปีนี้

Advertisement

“เรื่องที่ 2 คือเรื่องการจัดตั้ง 0ne Stop Service เพื่อให้เกิดการติดต่อกับภาครัฐให้ง่ายขึ้น โดยรวมการติดต่อหน่วยงานราชการที่เดียว จบที่เดียว จากขออนุญาตเป็น 2เดือน ก็อาจจะย่นเวลาได้ และทำให้การดำเนินการไปอย่างรวดเร็วขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่จะทำ 0ne Stop Service คือ อุตสาหกรรมเพลงและภาพยนตร์ และส่วนที่ 3.คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงระยะยาว นั่นคือร่างกฎหมายพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ รวมถึงการส่งเสริมให้สภาการภาพยนตร์ไทย องค์กรใหม่ภายใต้ THACCA มาทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไปจนถึงการพิจารณาจัดเรตผู้ชมในอนาคต โดยให้เอกชนเป็นผู้จัดเรตผู้ชมด้วยตนเอง การเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดเรตผู้ชมทั้ง 3 ส่วน คือการเปลี่ยนวิธีคิด ที่ภาครัฐเมื่อก่อนนี้จะเคยจะเป็นในรูปแบบของการควบคุม โดยการสนับสนุนเสรีภาพ ทำความเข้าใจ สร้างสรรค์ศิลปินทุกคนอย่างเต็มที่ ข้อ 3 คือ พ.ร.บ.THACCA ที่จะเป็นกฎหมายหลักสำหรับหน่วยงานที่จะมาขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ ตอนนี้ตัวบทกฎหมายใกล้เสร็จเต็มทีแล้ว ร่างนี้กำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบโดยตั้งใจผลักดันให้เข้าสภา ภายในกลางปีนี้ ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน” นางสาวแพทองธารกล่าว

ด้าน นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ประชุมกันวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ทั้ง 11 อุตสาหกรรมได้เสนอเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้มา 5,164 ล้านบาท บางอุตสาหกรรมเสนอเป็นงบปี 2567 บางอุตสาหกรรมเสนอเป็นปี 2567 และ 2568 รวมกัน หลังจากรับหลักการในครั้งที่แล้วก็มีการทำการบ้าน โดยที่สำนักงบประมาณกับทั้ง 11 อุตสาหกรรม ได้ไปดูว่างบส่วนไหนเป็นปี 2567 หรือ 2568

“ซึ่งพบว่างบปี 2567 ประมาณ 3,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงบปี 2568 โดยวันนี้ได้มีการนำเสนอแต่ที่ประชุมก็ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด ให้ไปทำคำขอกับสำนักงบประมาณต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และเรื่องความคุ้มค่า สำหรับงบ 3,500 ล้านบาทในปี 2567 มาจากหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอาหาร สถาบันแฟชั่น เป็นต้น” นพ.สุรพงษ์กล่าว

Advertisement

นพ.สุรพงษ์กล่าวอีกว่า ได้มีข้อสังเกตจากสำนักงบประมาณว่า ในส่วนของงบประมาณ 3,500 ล้านบาท ก็เป็นส่วนที่อยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่เกือบ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ที่ทั้ง 11 อุตสาหกรรมได้เสนอคำขอมาจะนอกเหนือจากที่หน่วยราชการตั้งไว้ประมาณ 2,500 ล้านบาท
“งบประมาณ 3,500 ล้านบาท ดังกล่าวจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในวันที่ 9 มกราคม 2567 ต่อไป” นพ.สุรพงษ์กล่าว

นพ.สุรพงษ์กล่าวอีกว่า งบประมาณ 3,500 ล้านบาท กว่าจะใช้งบประมาณได้ต้องหลังเดือนเมษายนไปแล้ว ซึ่งส่วนหน่วยราชการเสนอผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 เกือบ 1,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 2,500 ล้านบาท ต้องของบกลางเพื่อดำเนินการต่อไป และบางส่วนอาจต้องเร่งขอ ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนเดือนเมษายน เช่น งานสงกรานต์ ก็ต้องรีบทำคำขอ ทั้งหมดนี้ต้องมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ วันที่ 9 มกราคม 2567

นพ.สุรพงษ์กล่าวอีกว่า ตามที่นางสาวแพทองธารได้เน้นย้ำเรื่องการให้เสรีภาพแสดงออกในวงการภาพยนตร์ ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ทำได้เลยตอนนี้คือให้เอกชนสามารถพิจารณาการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ได้ เพราะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ที่ตั้งขึ้น เสียงข้างมากและประธานกรรมการคือเอกชน แต่จะต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงต่อไป ให้มาตรการห้ามฉายเหลือเงื่อนไขน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ ส่วน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และ พ.ร.บ.เกมที่จะออกมาใหม่ จะร่างขึ้นมาโดยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดเรตติ้งเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯเพิ่มเติม อาทิ นายชานน สันตินธรกุล หรือ นนกุล เป็นคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านภาพยนตร์, พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล เป็นคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านดนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image