ก้าวไกล ดักคอ รัฐบาล ออกพันธบัตร  ดิจิทัลวอลเล็ต หวั่น ซ้ำเติมปัญหาหุ้นกู้

“ก้าวไกล” ดักคอ “รัฐบาล” ออกพันธบัตร เดินหน้า ดิจิทัลวอลเล็ต หวั่น ซ้ำเติมปัญหาหุ้นกู้ -กระทบความน่าเชื่อถือตลาดหุ้นไทย

เมื่อเวลา 10.00น. วันที่ 11 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึง โครงการกู้เงินห้าแสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อาจส่งผลกระทบทางลบของต่อหุ้นกู้ ว่า นับตั้งแต่กลางปี 2566 จนถึงปัจจุบันนี้ หุ้นกู้ที่สำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.)ได้อนุมัติให้บริษัทออกขายกับประชาชนมีการผิดนัดชำระหนี้เป็นจำนวนมูลค่าสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีหุ้นกู้ของ บริษัทสตาร์ค หรือ บริษัท เจเคเอ็น รวมถึงบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์อีกหลายแห่ง ที่มีประชาชนเป็นผู้ลงทุนจำนวนมาก รวมทั้งข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จะมากขึ้น โดยในปี 2566 มีการผิดนัดชำระหุ้นกู้ประมาณสองหมื่นกว่าล้านบาทและ คาดว่ามูลค่าหุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดในปี 2567 นี้ อาจจะมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นอีกเกือบล้านล้านบาท

การผิดนัดชำระหุ้นกู้แก่นักลงทุนที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นและมีจำนวนเงินมากขึ้น ทำให้หุ้นกู้ที่จะออกขาย ใหม่ขาดความน่าเชื่อถือ คนที่ออกหุ้นกู้ใหม่ต้องใช้วิธีเสนอให้ดอกเบี้ยหุ้นกู้สูงขึ้น ล่าสุดมีการเสนอ ออกหุ้นกู้โดยเสนอให้ดอกเบี้ยสูงถึง 7เปอร์เซนต์ต่อปี จากปกติที่เคยให้ดอกเบี้ยประมาณ 3-5 เปอร์เซนต์ ต่อปี

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีคำตอบมายังกระทรวงการคลัง ว่า สามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท หากรัฐบาลทำตามพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พศ. 2561 ถ้ารัฐบาลออกพรบ.กู้เงินดังกล่าวออกมาบังคับ และรัฐบาลจะเลือกใช้วิธีการกู้โดยการออกพันธบัตร ตนมองว่าจะเป็นการซ้ำเดิมตลาดหุ้นกู้ที่ปัจจุบันมีปัญหาอยู่แล้ว ให้มีปัญหามากยิ่งขึ้น ปัญหาแรก คือ การแข่งขัน ด้านดอกเบี้ยตราสารจะสูงขึ้น โดยสภาพการแข่งขันของตลาดทุนแล้ว หุ้นกู้ที่จะออกมาขายกับประชาชนจะต้องเสนอให้ดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 2-3 เท่าเพื่อเป็นแรงจูงใจแก่นักลงทุนให้มาซื้อหุ้นกู้

Advertisement

ปัญหาที่สองที่จะเกิดขึ้นคือ การแก้ปัญหาการชำระหนี้หุ้นกู้ที่ผิดนัดแล้วโดยการขอขยาย ระยะเวลากำหนดชำระหนี้หุ้นกู้ หรือ rolling over ออกไปซึ่งบริษัทหลายบริษัทที่ออกหุ้นกู้ในปัจจุบันพยายามเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้ จะทำได้ยากยิ่งขึ้นเพราะนักลงทุนย่อมเร่งรัดเพื่อได้รับชำระหุ้นกู้เพื่อนำเงินมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีความมั่นคงมากกว่าดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลระมัดระวังในการหาแหล่งเงินกู้ตามพรบ.กู้เงินห้าแสนล้านบาทที่จะออกมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้วิธีการออกพันธบัตรเพราะจะไปซ้ำเติมปัญหาหุ้นกู้ให้เลวร้ายลงกว่านี้และจะกระทบความเชื่อถือของตลาดทุนของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image