มอมเมาไหม? อาจารย์มธ. แนะเปิดให้ถก ยกวิจัยบวก-ลบ ออกสลากแข่ง ‘หวยลาว’

มอมเมาไหม? อาจารย์มธ.แนะเปิดให้ถก ยกวิจัยบวก-ลบ ออกสลากแข่ง ‘หวยลาว-ฮานอย’ ห่วงเยาวชนเข้าถึงง่าย

สืบเนื่องจาก นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานสลากปี 2566 ได้รับผลตอบรับที่ดีจากประชาชนอย่างมาก ดังนั้น จึงเตรียมเพิ่มสลากดิจิทัลเป็น 23 ล้านฉบับ เริ่มงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 25667 เพื่อตอบสนองความต้องการซื้อของประชาชน รวมทั้งมอบหมายสำนักงานกองสลากฯ ศึกษาการทำผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่ม นอกจากสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ หวยฮานอย และหวยลาว ที่มีการออกรางวัลทุกวัน หรือทุก 3 วันนั้น

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ผศ.ดร.ประกีรติ สัตสุต อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ถึงกรณีดังกล่าว

ผศ.ดร.ประกีรติกล่าวว่า หากรัฐบาลมีการออกสลากบ่อยขึ้นแล้วจะเป็นการมอมเมาหรือไม่นั้น ต้องเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญระหว่างคนในสังคม เนื่องจากถ้าเราไปดูผลการสำรวจทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยข้อมูลรายงานจากศูนย์การศึกษาพัฒนาประจำปี 2565 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า

Advertisement

“คนมากกว่าครึ่ง 52.6 เปอร์เซ็นต์ มองว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ถือเป็นการพนัน และ 35.2 เปอร์เซ็นต์ มองว่าเข้าข่ายเป็นการพนัน ส่วนอีก 12.2 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่มั่นใจ แสดงให้เห็นว่าการที่รัฐเป็นผู้ออกสลากฯ มีความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือ มองว่าเป็นนโยบายรัฐ

ดังนั้นข้อถกเถียง คือ ถ้ารัฐดำเนินการผ่านกองสลากมากขึ้น มีคนจำนวนมากในสังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นการมอมเมา แต่สำหรับคนอีกกลุ่มก็จะมองว่าเป็นการมอมเมา เพราะสลากที่จะออกมามีระยะเวลาที่สั้นมากกว่าเดิม รูปแบบการกระจายตัว การซื้อการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น” ผศ.ดร.ประกีรติชี้

ผศ.ดร.ประกีรติกล่าวว่า เมื่อมองกรณีเหมือนยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่ทำเรื่องสลากขึ้นมา โดยมีราคาตั้งต้นที่ไม่สูง เช่น 10 บาท หรือ 20 บาท ก็สามารถเล่นได้แล้วนั้น ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลถึงกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อประเด็นศีลธรรม เช่น เยาวชน นักเรียน นักศึกษาต่างๆ เพราะเข้าถึงได้ง่าย

Advertisement

“มีงานวิจัยอยู่ว่า ถ้าเด็กและเยาวชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยอมรับการพนันรูปแบบต่างๆ บางทีจะมีแนวโน้มในการผลักดันให้เรื่องการพนันเป็นเรื่องปกติ และทำให้เขามีส่วนร่วมกับการพนันได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของคนที่จะไปเล่น อาจจะเกิดการแนะนำกันในเรื่องของการซื้อสลาก ซื้อหวยอย่างอื่นได้เหมือนกัน ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการประเด็นหนึ่ง อาจจะไม่ได้เกิดแบบนี้ขึ้นจริง แต่ต้องอยู่ที่ตัวชี้วัดของคำว่า ‘มอมเมา’ ว่าเป็นอย่างไร” ผศ.ดร.ประกีรติชี้

ผศ.ดร.ประกีรติกล่าวต่อว่า ด้วยมุมมองของคน มักจะเชื่อใจสลากกินแบ่งรัฐบาลมากกว่า และมองว่าเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับกรณีที่เราไปงานกาชาด สอยดาว ก็จะกลายเป็นเหมือนเล่นเกมที่มีรัฐดูแล เพราะมันไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย จุดสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญของการแข่งขันกัน ระหว่างสลากกินแบ่งรัฐบาล กับหวยใต้ดิน

ผศ.ดร.ประกีรติ สัตสุต (ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

“ไม่ว่าอย่างไรคนก็จะหาทางมาเล่นแบบนี้อยู่แล้ว คนจำนวนมากมองว่าเรื่องนี้ดี คือกลุ่มคนที่ไม่ได้มองว่าเป็นการมอมเมา ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องการพนัน แถมมองว่าคนเล่นกันอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนจากการเล่นหวยมาเล่นสลากรัฐบาลดีกว่า เอาขึ้นมาบนดิน แล้วเงินก็จะเข้ารัฐบาล เพราะหวยใต้ดินมีในเรื่องของเลขอั้น หรือบางทีเจ้ามือสู้ไม่ไหว เบี้ยวไปก็มี พอมีรัฐเข้ามารับประกัน ก็จะมีความเป็นทางการมากกว่า” ผศ.ดร.ประกีรติระบุ

ผศ.ดร.ประกีรติกล่าวอีกว่า ตนมองว่ารัฐบาลไม่ได้จะแข่งขันกับหวยประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดียว แต่กองสลากฯยังมองไปถึงหวยใต้ดินในประเทศด้วย ซึ่งมีมูลค่าเงินหมุนเวียนมากกว่าสลากรัฐบาลอีก สิ่งที่ตนเข้าใจว่ารัฐกำลังทำอีกอย่าง คือการสร้างรายได้ให้รัฐ เก็บภาษีได้อย่างโปร่งใส ทำให้เงินอยู่ในระบบ ไม่ให้เงินออกไปนอกระบบมากเกินไป แน่นอนว่าเมื่อเงินเข้าไปอยู่ในธุรกิจสีเทา ย่อมจะผ่านกระบวนการฟอกต่างๆ มีการสูญเสียเงินออกไปตามช่องทางต่างๆ ทำให้รัฐไม่สามารถเก็บภาษีเข้ารัฐได้โดยตรง ตนจึงมองว่าไม่ได้มุ่งแข่งขันแค่เพียงหวยประเทศเพื่อนบ้าน เท่านั้น

“รัฐควรทำระบบการกรอง เพื่อไม่ให้กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เข้ามามีส่วนเล่นได้มากขึ้น ต้องมีการทำแคมเปญ กำกับควบคุมเรื่องนี้ ซึ่งนอกจากมิติกฎหมายที่กันไม่ให้เด็กซื้อ ยังต้องทำงานด้านการให้ความรู้ ลงไปทำงานเชิงภาคสนามกับโรงเรียน สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการสอนเกี่ยวกับการพนัน รวมถึงเรื่องการรู้เรื่องการเงิน (financial literacy) สมควรใส่ไว้ในหลักสูตรการศึกษา ที่ไม่ใช่แค่การหาอย่างเดียว แต่สอนว่าต้องวางแผนจัดการอย่างไรด้วย” ผศ.ดร.ประกีรติชี้

ผศ.ดร.ประกีรติกล่าวต่อว่า หากมองผลในเชิงบวก เงินจำนวนมากจะเข้าสู่ระบบ ถ้าจัดการได้ดีจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมได้มาก เช่น เอามาสร้างหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการพนัน ที่จะเข้ามาสู่ชีวิตเราจนสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่อยากให้รัฐเปิดพื้นที่พูดคุยให้มาก ไม่ใช่แค่ในหมู่รัฐบาล แต่รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านเข้ามาร่วมพูดคุยได้

“ท้ายที่สุด ถ้าเรื่องนี้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ควรจะหาทางออกร่วมกันเพื่อลดภาระสำหรับรัฐบาลต่อไปด้วย เพราะต้องบอกว่าฝ่ายค้านในวันนี้ อาจจะไปเป็นรัฐบาลในวันหน้า อย่าลืมว่าคุณต้องเจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน คุณจะโดนด่าด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น วาระนี้เป็นเรื่องที่ควรทำกันทุกภาคส่วนและมีประโยชน์กับทุกคน แล้วไปสู้กันเรื่องอื่น” ผศ.ดร.ประกีรติเผย

ผศ.ดร.ประกีรติกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงคนอื่นในสังคม เช่น หน่วยงานทางวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยทั้งหลาย เพื่อที่จะได้ไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ละเอียด

“ถ้าเราไม่มีมาตรการกำกับควบคุมที่ดี อาจจะเหมือนกัญชาเสรีก็ได้ คือกัญชา กัญชง เป็นเรื่องที่ดี ถ้าใช้ในทางการแพทย์ ถ้าอายุถึงและมีความเข้าใจ หรือเหล้า เบียร์ ถ้ากินมากเกินไป ใช้โดยไม่รู้ abuse ใช้มากไปก็ไม่ดี ต้องมีอะไรบางอย่างมารองรับเช่นกัน” ผศ.ดร.ประกีรติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image