ลุ้นเอลนีโญอ่อนกำลัง… รัฐห้ามประมาท ตั้งการ์ดสกัดวิกฤตซ้ำซาก

ลุ้นเอลนีโญอ่อนกำลัง... รัฐห้ามประมาท ตั้งการ์ดสกัดวิกฤตซ้ำซาก

กลางปี 2566 ที่ผ่านมา หลายสำนักพยากรณ์สภาพอากาศกังวลว่าในปี 2567 ไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ “ซุปเปอร์เอลนีโญ” ที่มีความรุนแรงกว่าเอลนีโญปกติหลายเท่า แต่ปัจจุบันคาดการณ์ว่าเอลนีโญจะค่อยๆ อ่อนกำลังลง และกลับเข้าสู่ฤดูกาลปกติในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 แต่กว่าจะไปถึงช่วงดังกล่าวหลายฟื้นที่ยังต้องเผชิญกับภัยแล้งที่มีโอกาสลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม 2567

⦁สทนช.คาดเอลนีโญเริ่มอ่อนกำลัง
จากการคาดการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกร รวมถึงประชาชนกังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ระหว่างเพาะปลูกพืชผลต่างๆ เรื่องนี้ สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ให้ข้อมูลว่า ในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางระลอกใหม่จะส่งผลให้พื้นที่บางส่วนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น โดยอิทธิพลของสถานการณ์เอลนีโญทำให้ประเทศไทยมีภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติอยู่มาก และคาดการณ์ในครึ่งแรกของปี 2567 จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติค่อนข้างมาก

อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันปรากฏการณ์เอนโซ (เอลนีโญ-ลานีญา) ยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรง คาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรงนี้จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลาง และต่อเนื่องถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2567 จากนั้นจะอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อนไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2567 หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนกลับเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567 ด้วยความน่าจะเป็น 60%

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะมีปริมาณน้อยกว่าค่าปกติ จากนั้นในครึ่งปีหลังประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณฝนภาพรวมยังต่ำกว่าค่าปกติ 5-10% คาดว่าประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2567

Advertisement

ขณะที่สถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 60,457 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 73% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การ 36,246 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีก่อน 4,008 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 ทั้งประเทศมีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 จำนวน 40,387 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนการจัดสรรน้ำ 21,810 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝน 18,577 ล้าน ลบ.ม.

รวมทั้งคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ ต้นฤดูฝน ปี 2567 หรือวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 มีปริมาณน้ำ 21,455 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 45% ของความจุอ่างฯเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 17,787 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 3,668 ล้าน ลบ.ม. ณ ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 หรือในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 มีปริมาณน้ำ 31,691 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 67% ของความจุอ่างฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 32,849 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่า 1,158 ล้าน ลบ.ม.

⦁เฝ้าระวังน้ำน้อย98แห่ง
ส่วนแผนและผลการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 แบ่งเป็น แผนปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 5.80 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 6.73 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 116% ของแผนฯ แผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผักทั้งประเทศ 0.57 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.41 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 72% ของแผนฯ และแผนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง 6.37 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 7.14 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 112% ของแผนฯ

Advertisement

ขณะเดียวกัน แม้เอลนีโญมีท่าทีอ่อนกำลังลง แต่ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยปัจจุบันมีอยู่ 98 แห่ง โดยในจำนวนนี้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 40 แห่งภาคเหนือ 25 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง รวมถึงภาคใต้ที่แม้ในภาพรวมจะมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากภาคใต้ตอนบนและตอนกลางยังคงมีฝนตกน้อย ทำให้มีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้มีการรักษาปริมาณน้ำต้นทุนไว้ให้มากที่สุดโดยไม่ประมาท รวมทั้งให้มีการติดตามคาดการณ์ปริมาณฝนแบบรายเดือนเพื่อปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 ด้านอุปโภคบริโภค แบ่งเป็น ในเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวน 17 สาขา 13 จังหวัด นอกเขต กปภ. จำนวน 31 จังหวัด 150 อำเภอ 375 ตำบล ด้านการเกษตร (อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน) ได้แก่ นาปรัง จำนวน 13 จังหวัด 33 อำเภอ 64 ตำบลพืชต่อเนื่อง (ไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ) จำนวน 22 จังหวัด 68 อำเภอ 168 ตำบล ด้านคุณภาพน้ำ มีพื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แบ่งเป็น เขต กปภ. จำนวน 8 สาขา 7 จังหวัด และเขตการประปานครหลวง (กปน.) จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก นนทบุรี และสมุทรปราการ

⦁เตรียมแผนรับมือภัยแล้ง
ทั้งนี้ สทนช. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงหน่วยงานของจังหวัด ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

ตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรี โดยการลงสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยเฉพาะปัญหาเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ซึ่งได้มีการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน ทั้งแบบเฉพาะหน้าและระยะยาว อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำบาดาลมาใช้ วางแผนขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม ขยายกำลังการผลิตน้ำประปาเข้าไปในพื้นที่ สูบผันปริมาณน้ำเพิ่มเติมไปยังแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย สำรวจเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและระบบกระจายน้ำเพิ่มเติม สร้างฝาย หรือประตูน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้ประสานไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อใช้เทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเพิ่มศักยภาพในการผลิตน้ำอุปโภค บริโภค ให้กับประชาชน อีกทั้งยังได้ประสานการประปาส่วนภูมิภาคในการสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมในการบริหารจัดการประปาชุมชนด้วย พร้อมกันนี้ จะมีการพิจารณาลงสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพิ่มเติมจากแผนที่วางไว้ โดยประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาสามารถแจ้งเข้ามายัง สทนช. หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่น National Thai Water

อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง คือ เรื่องคุณภาพน้ำจากลิ่มความเค็มที่รุกตัวเข้ามาสู่ลำน้ำ ซึ่งในระยะนี้ น้ำในแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง มีแนวโน้มค่าความเค็มค่อนข้างสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยกรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมการระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำประปาแล้ว

⦁เฝ้าระวังน้ำท่วมต่อเนื่อง
นอกจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากด้วย เนื่องจากในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ 2567 หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรง โดยสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ในปัจจุบัน ระดับน้ำได้กลับเข้าสู่ระดับต่ำกว่าตลิ่งและสถานการณ์ได้คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ ตามข้อห่วงใยของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี

ในระยะนี้ภาคใต้จะยังคงมีปริมาณฝนตกเล็กน้อย โดยเป็นฝนในลักษณะกระจายตัว ก่อนที่ปริมาณฝนจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางเดือนนี้ ซึ่ง กอนช. จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำมาก 80-100% ของความจุ ทั้ง 20 แห่ง อย่างใกล้ชิดต่อไป

⦁สศก.ห่วงเกษตร32จ.เสี่ยงน้ำน้อย
ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้ง ว่า มีพื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย และมีโอกาสเกิดภัยแล้งในปี 2567 โดยใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความดันในชั้นบรรยากาศ ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในปี 2566 ข้อมูลสถิติการผลิตพืชที่สำคัญรายจังหวัด ข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน ปี 2566/67 รวมไปถึงข้อมูลพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งพื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับลดลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย

จังหวัดที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งประกอบด้วย ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ตาก น่าน กำแพงเพชร นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ยโสธรร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ และหนองบัวลำภู และภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว และสุพรรณบุรี เมื่อนำข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการน้ำของภาคส่วนต่างๆ มาดำเนินการวิเคราะห์ คาดการณ์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566-67 พบว่า พื้นที่นอกเขตชลประทานมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำสูง รวมทั้งอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมในปี 2567

สำหรับพืชที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ คือ ข้าว พืชไร่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และพืชสวน จะเป็นประเภท ลำไย กาแฟ ทุเรียน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยข้าวที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ข้าวทั้งนาปีและนาปรัง เพราะว่าในระยะสั้นผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปีที่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติซึ่งมีไม่พอ ผลผลิตต่อไร่ลดลง และสภาพอากาศที่ร้อนทำให้เกิดปัญหาโรคพืช โรคแมลง มากขึ้นส่งผลผลิตข้าวในปี 2567 ลดลงด้วย

⦁อุตฯภาคเกษตรกระทบรอบด้าน
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมปลาป่นเพื่อทำอาหารสัตว์เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากปลาป่นมีองค์ประกอบที่สำคัญของอาหารสัตว์ โดยปลาป่นมักจะผลิตมาจากปลาทะเลที่มีขนาดเล็กในธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนเช่นเดียวกัน จึงทำให้มีปริมาณลดลงและขาดแคลน ราคาของอาหารปลาจะสูงขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนการเพาะเลี้ยงสูงขึ้นด้วย ส่วนผลกระทบด้านปศุสัตว์ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีอากาศที่ร้อนขึ้นจะส่งผลกระทบ อาทิ สัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มเปิด หากเกิดสภาพอากาศที่ร้อนจะส่งผลให้สัตว์เกิดความเครียดจากความร้อน ความต้องการอาหารของสัตว์ลดลง และทำให้สัตว์เจริญเติบโตลดลง

อีกทั้ง ยังกระทบต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์ให้ลดลงด้วย และหากอากาศร้อนต่อเนื่องหลายวัน แม่สัตว์อุ้มท้องแก่อาจเกิดการแท้งได้ ทำให้ปริมาณผลผลิตในภาพรวมลดลง สำหรับโรคที่มักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน ได้แก่ โรคฮีตสโตรก หรือโรคลมแดด โรคบิด และโรคท้องเสีย หากสัตว์ยังปรับตัวไม่ทันต่อสภาพอากาศ สัตว์จะอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดลง และเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นตามมา

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบในเรื่องของต้นทุนการผลิตด้านพลังงานที่สูงขึ้น เกษตรกรต้องบริหารจัดการภายในฟาร์มมากขึ้น โดยการทำให้อากาศหมุนเวียน ถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดอุณหภูมิลงด้วยการใช้ระบบทำความเย็น มีการติดตั้งพัดลมเป่าและดูดอากาศเพิ่มขึ้น มีสเปรย์น้ำในโรงเรือนเพื่อลดอุณหภูมิลง ทำให้ภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้นทุนค่าอาหารสัตว์สูงขึ้น ช่วงฤดูร้อนอาหารสัตว์ขาดแคลนและมีราคาสูง ซึ่งอากาศที่ร้อนจัดทำให้เกิดการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์มีคุณภาพต่ำ

⦁ชี้ประกันภัยเกษตรช่วยแก้วิกฤต
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ในเบื้องต้นทาง สศก. มองว่าการมีประกันภัยพืชผลแบบสมัครใจ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร และลดการที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา แต่อาจจะต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้เกษตรกรได้เลือกใช้ ซึ่งในเรื่องนี้ได้หารือกรมการประกันภัย เพื่อดำเนินการศึกษาเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากถ้ารัฐบาลจ่ายช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไขจะเกิดผลกระทบในระยะยาวได้ สศก. จึงได้มีการถอดบทเรียนจากประเทศอื่นๆ และทำให้เห็นว่าแม้จะเป็นประเทศขนาดใหญ่ก็ต้องปรับตัวในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้แม้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมแผนรับมือป้องกันไว้ในเบื้องต้นแล้ว แต่ขึ้นชื่อว่า “วิกฤตภัยแล้ง” ก็ยากจะคาดเดาผลอยู่ดี

สุดท้ายแล้วเอลนีโญจะสิ้นสุดปีนี้ หรือจะแผงฤทธิ์ขยายวงอีกหลายปี ต้องติดตามกันต่อไป!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image