ธปท.ออกเกณฑ์เข้มคุมปล่อยสินเชื่อ มุ่งเป้าแก้หนี้ยั่งยืน & ต้นแบบกรองลูกหนี้ดี

ธปท.ออกเกณฑ์เข้มคุมปล่อยสินเชื่อ มุ่งเป้าแก้หนี้ยั่งยืน

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบดำเนินการใหญ่ของ ธปท. ดังนั้น จึงได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม และมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ถือเป็นมาตรการแก้หนี้เฟสแรก โดยจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยผลักดันเป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวระดับสูงจากข้อมูลไตรมาส 3/2566 หนี้ครัวเรือนสะสมที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ต่อจีดีพี

นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ และหนี้ยังอยู่ในระดับสูง จึงต้องมีการยกระดับการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยและมีทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินเพิ่มขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ซึ่งหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้า ตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและโอนขายหนี้

โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกค้าควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกค้าและสนับสนุนให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง

Advertisement

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมผู้ให้บริการต้องมีการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ ซึ่งประกอบด้วย 8 ด้าน ดังนี้

1.ผู้ให้บริการต้องมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการ ความสามารถในการชำระหนี้และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้าและลักษณะสินเชื่อ รวมทั้งเงื่อนไขสัญญามีความเป็นธรรมต่อลูกค้า

2.ผู้ให้บริการต้องจัดทำและควบคุมโฆษณาให้มีเนื้อหาที่ถูกต้องและชัดเจน ครบถ้วนและเปรียบเทียบเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร เพื่อให้ลูกค้าได้รับและเข้าใจข้อมูลที่จำเป็นจากโฆษณาอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจและส่งเสริมการมีวินัยทางการเงิน

Advertisement

3.กระบวนการขาย ผู้ให้บริการต้องดูแลให้ลูกค้าได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วน ไม่เกินจริง ไม่บิดเบือน เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการใช้เงินของลูกค้าและไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร

4.การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ผู้ให้บริการต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกค้าอย่างเต็มที่เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้

5.การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างการเป็นหนี้ ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง

6.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลสำคัญให้ลูกหนี้ตระหนักถึงผลเสียของการเป็นหนี้ที่เรื้อรัง รวมทั้งมีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐานเพื่อให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้อย่างเหมาะสม

7.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้โดยเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังประสบปัญหาชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์

8.การดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายลูกหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ลูกหนี้ได้รับทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วนเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่ลูกหนี้สอบถาม ตลอดจนควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ รวมถึงภายหลังจากการโอนขายหนี้ ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม

สำหรับเฟส 2 ช่วงเดือนเมษายน 2567 ธปท.จะมีผลบังคับใช้หลักมาตรการการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) สำหรับผู้เข้าร่วมมาตรการจะเป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ประเภทหมุนเวียน โดยมีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ แต่ชำระหนี้ลักษณะจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าจ่ายเงินต้น ซึ่งภายใต้มาตรการแก้หนี้เรื้อรังลูกหนี้จะสามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ธปท.ขอให้เจ้าหนี้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี จากเดิมผู้ให้บริการต้องได้รับดอกเบี้ยจากกลุ่มนี้ตามสัญญาเดิมสูงสุด 25% เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

นอกจากนี้ ธปท.จะทำการทดสอบโครงการแซนด์บ็อกซ์ เรื่องกลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย (RBP) จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน คาดว่าไตรมาส 2/2567ธปท.จะให้ผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเข้าทดสอบการให้สินเชื่อ

เรื่องนี้ กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากการออกประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีการกำหนดเรื่องการคุมเข้มให้ผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ออกโฆษณาสินเชื่อ ที่กระตุ้นให้ลูกค้ามีความต้องการสินเชื่อมากเกินความจำเป็น ขณะนี้เห็นว่าการโฆษณาลักษณะกระตุ้นการขอสินเชื่อน้อยลง เช่น การโฆษณาให้เปิดบัตรเครดิตและจะได้รับกระเป๋าเดินทาง หรือได้รับสิทธิพิเศษอื่นๆ มากขึ้น ถ้ายังเห็นมีโฆษณาเหล่านี้อาจเป็นเพราะติดสัญญาด้านระยะเวลาที่ดำเนินการยังไม่สิ้นสุด

การกำหนดเกณฑ์ดังกล่าว อาจมีผลต่อธุรกิจธนาคารด้านสินเชื่อ แม้คาดการณ์ว่าการขยายตัวของสินเชื่อ ปี 2567 จะขยายตัวมากกว่าปีก่อน เพราะปี 2566 สินเชื่อขยายตัวต่ำ เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อภาครัฐ มีการชำระคืนหนี้ หรือมีความสามารถชำระหนี้มากขึ้น หลังจากที่ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อสูงไปเมื่อเกิดวิกฤตโควิด ขณะนี้จึงเห็นสัญญาณการคืนหนี้มากขึ้น รวมถึงธุรกิจได้ออกหุ้นเพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ย และนำเงินมาคืนสินเชื่อธนาคารอีกด้วย รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้สินเชื่อใหม่ปล่อยได้น้อยลง

ขณะเดียวกัน ปี 2567 ภายใต้เศรษฐกิจที่ทยอยกลับมาขยายตัวดีขึ้น อาจหนุนให้เกิดการขอสินเชื่อกลับมามากขึ้น แต่กระบวนการปล่อยสินเชื่อธนาคารคำนึงถึงเกณฑ์ที่ ธปท.ออกมามากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อกลุ่มรายย่อย อาทิ บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น อาจทำให้ธนาคารเข้าไปดูแลลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย

โดยหลักเกณฑ์นี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากทั้งสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ มีการแข่งขันภายใต้เกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งต้องคำนึงถึงลูกหนี้เป็นหลักด้วย เพราะการให้สินเชื่อจะดูแลตั้งแต่การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ดูแลความสามารถการชำระคืน และพร้อมการชำระคืนหนี้ ลูกหนี้ต้องมีรายได้ไปใช้ดำรงเลี้ยงชีพ หลังจากที่ใช้จ่ายหนี้ไปแล้ว

นอกจากนี้ แนวทางการให้สินเชื่อลูกค้าที่มีเครดิตดีจะมีการสนับสนุนเรื่องการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาแล้วมีประวัติการชำระหนี้ดี การให้สินเชื่อจะมีการกำหนดดอกเบี้ยโอนเอียงไปในทางที่ต่ำลง เนื่องจากเกณฑ์นี้จะให้ผู้ให้บริการสินเชื่อพิจารณาความเสี่ยงและคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย

“สินเชื่อใหม่ที่ลูกหนี้จะได้รับอาจมีต้นทุนไม่ได้สูงมากนัก ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพราะพิจารณาตามความเสี่ยงของลูกหนี้ รวมถึงมีการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้ดีขึ้น ถือเป็นหลักเกณฑ์สนับสนุนให้ภาคการเงินได้สิ่งหนึ่ง” กาญจนากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image