ปั้นตะวันออกฐานผลิตโกโก้ไทย สู่พืชเศรษฐกิจหลัก ยกระดับรายได้เกษตรกร

ปั้นตะวันออกฐานผลิตโกโก้ไทย สู่พืชเศรษฐกิจหลัก ยกระดับรายได้เกษตรกร
เศรษฐา ทวีสิน, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ปลายปีที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดสระแก้ว

ประเด็นหนึ่งที่นายเศรษฐาเน้นย้ำคือ ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์โกโก้ภาคตะวันออก โดยใช้จังหวัดสระแก้วเป็นฐานผลิตหลัก เนื่องจากมีนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วตั้งอยู่ ภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว

ต่อเรื่องนี้ทราบว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำลังเดินหน้าสานต่อนโยบายอย่างเต็มที่ โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน

รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราให้ข้อมูลว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการหารือและชูประเด็นเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์โกโก้ภาคตะวันออกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยตั้งเป้าหมายเปิดตัวที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อเร่งดำเนินการผลักดันโกโก้สู่พืชเศรษฐกิจหลักของไทย

Advertisement

ล่าสุดได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนายกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์โกโก้ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว โดยเริ่มจากการแก้ไขปัญหาเรื่องโรงงานและกระบวนการแปรรูปที่เหมาะสม ซึ่งจะสามารถส่งผลต่อรสชาติของโกโก้ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโกโก้ในพื้นที่ไปสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการนำร่องจังหวัดสระแก้วในการจัดตั้งโรงงานขนาดเล็กสำหรับแปรรูปโกโก้ เพื่อสนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้ให้มากขึ้น อันจะสามารถยกระดับให้โกโก้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยได้ในอนาคต

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์โกโก้ในพื้นที่ตะวันออกนั้น เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการเพาะปลูกโกโก้ด้วยนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเพาะปลูก (Smart Farming) เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การผลิตโกโก้ที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมโกโก้ การจัดการโลจิสติกส์ ตลอดจนการพัฒนาโกโก้เป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปในสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ยังมีการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการแปรรูปการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเป็นอัตลักษณ์ของโกโก้ภาคตะวันออกและตรงตามความต้องการของตลาด การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การสร้างและขยายโอกาสทางการตลาด อีกทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการโกโก้เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในทุกๆ มิติ และเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังตลาดสากลในอนาคต

Advertisement

จากนโยบายนี้ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อมได้เร่งเดินหน้าลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโกโก้ โดยนำร่องให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้

ในระยะแรกดีพร้อมได้ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าเกษตรแปรรูปผ่านกิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีทุ่นแรงสำหรับเกษตรแปรรูปของชุมชน ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมด้วยการนำนวัตกรรมและการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา “เครื่องผ่าผลสดโกโก้” ซึ่งปัจจุบันได้มีการใช้มีดผ่าผลสดโกโก้ ทำให้ใช้ระยะเวลานานและมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ดีพร้อมจึงนำเทคโนโลยีทุ่นแรงสำหรับเกษตรแปรรูปมาประยุกต์ใช้แทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผ่าผลโกโก้สดลดการเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงานของคน

“เครื่องผ่าผลสดโกโก้ ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้กว่า 1.2 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ดีพร้อมยังได้ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการขออนุญาตจัดตั้งสถานที่ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้การขอมาตรฐาน อย. ให้กับวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้ ซึ่งได้ทำการร่างแบบแปลนสำหรับกั้นแบ่งห้องในอาคารผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายการจัดตั้งโรงงานต่อไป” นายภาสกรกล่าว

ขณะเดียวกัน ดีพร้อมยังได้เตรียมออกแบบและพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์โกโก้หลังจากที่ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาการสร้างแบรนด์และตราสินค้าให้แก่ชุมชนดังกล่าว รวมถึงการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์หนังเทียมจากเปลือกโกโก้ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดอนาคต ตลอดจนการพัฒนาและยกระดับศักยภาพกระบวนการผลิตแปรรูปโกโก้ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โกโก้ให้กับวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้

“นอกจากนั้น ดีพร้อมยังจัดทำแผนงานระยะสั้น ในการยกระดับศักยภาพองค์ความรู้และทักษะให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ ด้วยการจัดฝึกอบรมด้านการพัฒนาเทคนิคการหมักและการแปรรูปโกโก้ให้ได้คุณภาพมาตรฐานและการเพิ่มกลยุทธ์การตลาดด้วยเทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling) ซึ่งจะดำเนินการภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายภาสกรกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับโกโก้ถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่และได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับโอกาสในอนาคต

ข้อมูลปี 2565 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ไปตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 69.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 64.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมี ญี่ปุ่น อาเซียน และเกาหลีใต้เป็นตลาดหลักส่งออกที่สำคัญ

โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านพื้นที่สามารถปลูกโกโก้ได้ทุกภาค ดังนั้นภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่การปลูกโกโก้และเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ จึงเป็นทำเลหลักที่นายเศรษฐาเลือกให้เป็นฐานที่ตั้งโรงงานผลิตและแปรรูปเพื่อยกระดับโกโก้ไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image