เอ็นที เสนอแผน คนร. 7 ข้อฉลุย หวังอุดรอยรั่ว หลังปี66 ขาดทุนหนัก

เอ็นที เสนอแผน คนร. 7 ข้อฉลุย หวังอุดรอยรั่ว หลังปี66 ขาดทุนหนัก

เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวถึงเรื่องผลประกอบการปี 2566 ว่า ขณะนี้รายงานยังไม่เสร็จเรียบร้อย เบื้องต้นประเมินว่าผลประกอบการน่าจะขาดทุนจากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 100-200 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น สัญญาจากพันธมิตรที่ต้องชำระ ค่าใช้จ่ายในการย้ายหน่วยงานในองค์กร รวมถึงข้อพิพาทในชั้นศาล (คดี) ที่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 100 ล้านบาท บริษัทจึงตัดสินใจเพิ่มเงินเดือนให้พนักงาน 5% จากเดิมที่มีการเพิ่มประมาณ 6.5%

พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปี 2567 หลังจากเอ็นทีได้เสนอแผนงานต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ซึ่งได้รับความเห็นชอบ โดย คนร.ขอให้เอ็นทีนำแผนที่เสนอเพิ่มเติม 7 ข้อไปจัดทำรายละเอียดและแผนรายได้เพื่อนำมาเสนออีกครั้งหนึ่ง ประกอบด้วย 1.การพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ บริษัทมีแผนพัฒนาที่ดิน 2 แห่ง จาก 5-6 แห่ง ในกรุงเทพฯและปริมณฑล คือเอ็นทีคลองเตย และเอ็นทีงามวงศ์วาน เพื่อพัฒนาเป็นดาต้า เซ็นเตอร์ ร่วมกับพันธมิตร เพื่อให้บริการคลาวด์ ขณะนี้มีบริษัทต่างชาติสนใจอยู่ 4-5 บริษัท

2.การหาโอกาสจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และดาต้า เอ็นทีจะประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการนำเสนอรัฐบาลออกสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะตลาดคลาวด์มีอัตราขยายตัวจาก 10 % ไปถึง 20% จึงตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ดิจิทัลจาก 5-10 % ประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็น 20 % หรือหลัก 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2570

Advertisement

3.การดำเนินงานด้านบริการรัฐบาลดิจิทัล ปีนี้จะมีการให้บริการแพลตฟอร์มภาครัฐพัฒนาโดยเอ็นที ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานฉุกเฉินทางการแพทย์ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 16 แห่ง ที่เอ็นทีให้บริการฟรีและใกล้ครบกำหนดแล้ว คาดว่าจะกลายมาเป็นลูกค้าต่อไป

4.การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ปีนี้จะมีประมาณ 2-3 บริษัท โดยแนวคิดคือบริษัทที่ปกติต้องจ้างบริษัทนอกมาดูแลให้เปลี่ยนเป็นตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรที่สนใจ เพื่อรับทั้งงานในบริษัทแม่และสามารถรับงานบริษัทอื่นๆ อาทิ บริษัทรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน ดูแลสวน และบริษัทไอที เป็นต้น

5.ธุรกิจโมบายล์ เพิ่มการขายกลุ่มงานราชการให้บริการรูปแบบ Machine To Machine (M2M) หรือใช้เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถส่งข้อมูลระหว่างกันผ่านการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องและอุปกรณ์อินเตอร์เนต และและใช้คลื่น 700 MHz ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT)

Advertisement

6.การพัฒนาการให้บริการโครงข่ายสายปลายทาง (Neutral Last Mile) เน้นการให้บริการสายไฟเบอร์สู่ครัวเรือนแบบให้ผู้ให้บริการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Single Last Mile) เพื่อป้องกันปัญหาสายรุงรังและลดต้นทุนในการพาดสาย ขณะที่การนำท่อร้อยสายลงดินยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะติดปัญหางบประมาณและต้องหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

และ 7.การสรรหาพันธมิตรบรอดแบนด์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ขาดทุนมาโดยตลอด ประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล แม้ว่าเอ็นทีจะมีความสามารถในการให้บริการ 2,400 กิโลเมตร มีพนักงานให้บริการกว่า 2,000-3,000 คน แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันด้านการตลาดกับเอกชนได้ ทั้งเรื่องราคา โปรโมชั่น และการบริการ ดังนั้น เอ็นทีจะหาพันธมิตรทำบรอดแบนด์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน

“จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว เอ็นทีได้ประมาณการณ์ผลประกอบการคาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 87,983.93 ล้านบาท โดยมีรายจ่ายอยู่ที่ 89,882.48 ล้านบาท ขาดทุน เกือบ 2,000 ล้านบาท งบลงทุน 5,000 ล้านบาท โดยรายได้ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 8,965.33 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ 2,190.76 ล้านบาท กลุ่มโมบายล์ 47,889.54 ล้านบาท กลุ่มโทรศัพท์พื้นฐานและบรอดแบนด์ 18,673.72 ล้านบาท กลุ่มดิจิทัล 4,303.93 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 5,960.65 ล้านบาท”พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image