ดร.สันติธาร ระบุ AI จะทำให้เราฉลาดขึ้นหรือโง่ลง อยู่ที่ มนุษย์จะเก็บเกี่ยวปัญญาได้ดีแค่ไหน
เมื่อวันที่ 30 มกราคม ดร.สันติธาร เสถียรไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่อง “AI จะทำให้เราฉลาดขึ้น หรือ โง่ลง?” ความว่า วันก่อนผมได้มีโอกาสไปฟังศาสตราจารย์ Emma McCoy รองอธิการบดีและศาสตราจารย์ด้านสถิติของ LSE (London School of Economics and Political Science) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาเล่าถึงแนวคิดในการรับมือผลกระทบของ Generative AI ต่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยซึ่งมี 4 ประเด็นหลักที่น่าสนใจดังนี้
1.อ้าแขนรับ GenAI แบบมีสติ
ทาง LSE ดูจะเปิดรับการใช้ GenAI ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือแบบ ChatGPT, Co-Pilot, Bard ฯลฯ ในการศึกษาอย่างชัดเจน เพราะเล็งเห็นศักยภาพของเครื่องมือเหล่านี้ในการพัฒนาการเรียนรู้ให้คน
แต่ทำอย่าง “มีสติ” ทางวิชาการ คือมีการค้นคว้าและศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบและข้อดีข้อเสียการใช้เทคโนโลยีนี้ไปพร้อมกับการทดลองใช้จริงเพื่อเก็บข้อมูลและคอยประเมิน ไม่ใช่ปล่อย AI วิ่งเข้าห้องเรียนแล้วจบกันเช่น มีการตั้งกลุ่มโฟกัสกรุ๊ป GENIAL : GENerative AI Tools as catalyst for Learning มาศึกษาการนำ GenAI มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนวิชาโปรแกรมมิ่งและ data science
2.เห็นนักเรียนเป็น “พาร์ตเนอร์”
ไม่ใช่ว่าอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยคิดกันเองว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ เกี่ยวกับการใช้ GenAI
แต่ทางมหาวิทยาลัยจะพยายามดึงให้นักเรียนมามีส่วนร่วมในการศึกษาและพัฒนาวิธีการใช้ GenAI ในการเรียนรู้มาช่วยกันเรียนรู้ว่า Use Case แบบไหนเวิร์ก/ไม่เวิร์กมาดูด้วยกันว่าเมื่อไรที่ GenAI มักจะ “หลอน” หรือ “มโน” คำตอบ (hallucination) มาช่วยกันดีไซน์ Prompt หรือคำสั่งที่เหมาะสมที่จะป้อนให้กับ GenAI
เพราะสุดท้ายนักเรียนก็คือ “User” คนสำคัญ จึงต้องให้มีส่วนมาช่วยดีไซน์การศึกษาในโลกของ AI ไปด้วยกัน
3.กลัวเสีย “การเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว”
ศาสตราจารย์ McCoy ยอมรับว่าแม้โดยรวมจะเชื่อในประโยชน์ของ GenAI แต่สิ่งที่กังวลอยู่คือ กระบวนการเรียนรู้ของคนหลายอย่างนั้นเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว (การเรียนรู้โดยปริยาย-Implicit learning)
บางกิจกรรมที่ดูซ้ำซาก เสียเวลา ใช้AI ลัดได้อาจกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของคน
ยกตัวอย่าง หากเรายอมให้นักเรียนใช้ ChatGPT ช่วยเขียนเรียงความร่างแรก แล้วตัวเองเล่นบทบาทเป็น บ.ก. คอยตรวจและปรับปรุงงาน วันนี้อาจจะคิดว่าดีเพราะ AI + คนทำงานประสานกันมีประสิทธิภาพขึ้น
แต่ต่อไปอาจมารู้ที่หลังว่าการหัดร่างเรียงความจากศูนย์นั้นช่วยฝึกฝนทักษะบางอย่างที่สำคัญให้กับนักเรียนมากกว่าแค่การเขียน (เช่น การคิดเชิงวิพากษ์, ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ) และการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะนี้ได้หายไปแล้วคล้ายกับบทสนทนาอีกวงที่ผมเคยได้ยินคุณหมอคนหนึ่งตั้งคำถามว่า “แม้วันนี้ AI จะอ่าน x-ray สู้กับแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงๆ ยังไม่ได้ แต่หากต่อไปนักศึกษาแพทย์เอาแต่พึ่ง AI กันหมดแล้วพวกเขาจะยังได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะการอ่าน x-ray จนกลายเป็นหมอที่มากประสบการณ์ได้ยังไง”
4.ทักษะแห่งอนาคตไม่ใช่ prompt engineering แต่คือการตั้งคำถามที่ดี
ศาสตราจารย์ McCoy คิดว่าทักษะแห่งอนาคตไม่ใช่แค่การรู้ว่าต้องป้อนคำสั่ง AI ยังไงถึงจะได้ผลตามที่ต้องการมากที่สุดเพราะวิธีการเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และอาจง่ายขึ้นด้วย แต่ที่ยากจริงๆ คือการตั้งคำถามที่ดี ซึ่งมาจากทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) อีกที
สำหรับเขาสิ่งที่เป็นหัวใจของการศึกษาที่ LSE ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน เทคโนโลยีเป็นอย่างไร คือ การสร้าง “Deep Thinker” หรือ คนที่สามารถคิดวิเคราะห์ มีทักษะคิดเชิงวิพากษ์อย่างลึกซึ้ง และไม่พอใจกับคำตอบที่ผิวเผิน อาจารย์คงไม่อยากเห็นการใช้ AI ในการศึกษาทำให้คนเสียความเป็น Deep Thinker ไป
คำพูดนี้ทำให้ผมย้อนเวลากลับไปนึกถึงสมัยที่เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกว่า
“หากคุณเขียนคำตอบตรงใจตามที่อาจารย์สอนหมด ต่อให้ดีแค่ไหนก็จะได้แค่เกรด B ถ้าทั้งห้องทำแบบนั้น ทั้งห้องก็จะได้ B (ไม่มีการตัดเกรดตาม curve) หากอยากได้ A ต้องบอกให้ได้ว่าที่อาจารย์สอนหรือหนังสือบอกนั้นมีจุดอ่อนตรงไหนและเราเห็นต่างอย่างไร”
พอตอนหลังพอมีโอกาสได้มาเป็นอาจารย์บ้างถึงได้รู้ว่าเวลาออกข้อสอบแบบนี้ ไม่ได้แค่ยากสำหรับนักเรียนแต่โหดกับคนตรวจด้วยมากเช่นกัน
ตอนจบศาสตราจารย์ McCoy ปิดด้วยคำพูดของนักเขียนชื่อดัง Isaac Asimov ว่า
“สิ่งที่น่าเศร้า คือ วิทยาศาสตร์สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ได้เร็วกว่าที่สังคมสามารถเก็บเกี่ยวปัญญา” (The saddest aspect of life is Science gathers knowledge faster than society gathers wisdom.)
สุดท้ายคำถามว่า AI จะช่วยให้เราฉลาดขึ้น หรือ โง่ลง อาจขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์เก็บเกี่ยว “ปัญญา” ได้ดีแค่ไหนในยุคของ AI ก็เป็นได้