เตือนค่าบาทผันผวน หลังตลาดรอลุ้นผลการประชุมเฟดคืนพฤหัสบดีนี้
เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.37 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.55 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และประเมินกรอบเงินบาทในช่วง 35.10-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด
นายพูนกล่าวว่า ช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.30-35.45 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนแข็งค่าในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐ ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ หลังยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย (โอกาสในการลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคม เหลือเพียง 41%) อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้างตามการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสบดีนี้
นายพูนกล่าวด้วยว่า สำหรับวันนี้ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน
ทางฝั่งไทยนั้น ควรจับตาการแถลงภาวะเศรษฐกิจรายเดือน (BOT Monthly Briefing) ของทางธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างไรบ้าง หลังล่าสุดทางกระทรวงการคลังได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2023 และ 2024 ลงพอสมควร
ส่วนในฝั่งสหรัฐ ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงภาวะการจ้างงานของสหรัฐ และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ได้ และไฮไลจ์สำคัญคือผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ ราวเวลา 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด
นายพูนกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่าค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เราคาดว่าเงินบาทอาจผันผวนไปตามบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชีย ซึ่งจะขึ้นกับ รายงานดัชนี PMI ล่าสุดของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินหยวน (CNY) และสกุลเงินเอเชียที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนอย่างค่าเงินบาทได้บ้าง
นอกจากนี้ ควรจับตาการแถลง Monthly Briefing ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด เพราะหาก ธปท.มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ทั้งอัตราการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจสะท้อนว่าในปีนี้ก็มีโอกาสที่ ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้บ้างในวันนี้
นายพูนกล่าวอีกว่า อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงก่อนและหลังทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยเราประเมินว่าหากเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยและย้ำภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด ซึ่งเราประเมินว่าหากผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 5 ครั้งในปีนี้ (น้อยกว่า -125bps) ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก
โดยอาจเห็นดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 104 จุด ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐ ก็อาจปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.20% ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจเห็นเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน (อาจอ่อนค่าไปถึง 35.80 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่หากเฟดเริ่มมีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น
ภาพดังกล่าวอาจกดดันให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐ ย่อตัวลงได้บ้าง (แต่อาจไม่มากนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐ) ทำให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 35.00-35.10 บาทต่อดอลลาร์ (เราประเมินว่าเงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลาร์ไปได้ง่ายในระยะสั้นนี้)
“ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง” นายพูนระบุ