“บินไทย”จ่อฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายRolls Royceข้อหา “จัดหาเครื่องยนต์สูงกว่าที่ควรจะเป็น”ทำให้เสียชื่อเสียง

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาเรื่อง “อย่าให้คนโกงมีที่ยืนในการบินไทย ปตท. และประเทศไทย กรณีสินบน Rolls Royce” โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร.อ.กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายเมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการกลยุทธ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นวิทยากรในงานเสวนา โดยมีนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายเทวินทร์ กล่าวว่า จากบทเรียนที่เกิดขึ้น ได้เข้าไปดูรูปแบบการจ่ายค่าคอมมิชชั่นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีการจ่ายอยู่ 2 แบบ 1.จ่ายเพื่อตอบแทนฝีมือในการขาย และ2.ค่าคอมมิชชั่นที่โน้มน้าวให้ผู้ซื้อซื้อของ อย่างไรก็ตามมองว่าการเอาจริงเอาจังของสหรัฐอเมริกาจะทำให้ทิศทางการจ่ายค่าคอมมิชชั่นของบริษัทที่ทำธุรกิจเปลี่ยนไป ทั้งนี้ในส่วนปตท.เองพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการทำงานของป.ป.ช. เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นศูนย์กลางในการสอบสวน และเชื่อมั่นว่าทางป.ป.ช.จะเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง เพราะมีข้อตกลงที่เก็บข้อมูลที่ปรากฎในเอกสาร รวมถึงพร้อมให้ความร่วมมือหากป.ป.ช.จะเข้ามาตรวจสอบ หรือสอบปากคำผู้ที่ถูกพาดพิง

“คดีที่เกิดขึ้นมองว่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หากไม่เกิดเรื่องนี้ขึ้น การปราบปรามการทุจริตอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเป็นวาระเร่งด่วนที่องค์กรหรือรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ สำหรับปตท.ถูกกล่าวหาว่าพนักงานปตท.รับสินบน ทำให้เสียชื่อเสียงทั้งในนามองค์กรและในนามประเทศ ดังนั้นหากสามาถกู้ชื่อเสียงกลับมาได้ด้วยการเร่งดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจัง มีความชัดเจนในขั้นตอนการตรวจสอบต่างๆ จึงทำให้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมายุ่งอยู่กับเรื่องนี้จนไม่มีเวลาทำงานอื่น ทั้งนี้อยากจะให้หลายๆ ฝ่ายที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของปตท.ในการดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ประเทศว่า ควรจะแยกตัวบุคคลที่กระทำความผิดออกจากตัวองค์กร” นายเทวินทร์กล่าว

ร.อ.กนก กล่าวว่า การจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินเป็นข้อมูลเชิงเทคนิคที่มีความละเอียดอ่อน มีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การใช้งาน ราคาตลาด เครื่องยนต์สำรอง ทั้งนี้แนวทางการจัดซื้อในแต่ละโครงการคณะกรรมการ (บอร์ด) จะเร่งรัดให้มีการจัดซื้ออย่างดีที่สุด กระบวนการการดำเนินการต้องมีการชั่งน้ำหนักให้สมดุล (เช็คแอนด์บาลานซ์) มีฝ่ายตรวจสอบ จึงอยากให้เข้าใจในส่วนนี้ ส่วนการที่การบินไทยถูกพาดพิงว่ารับสินบนนั้น ทำให้เกิดความเสียหายในชื่อเสียง และกล่าวหาว่าการบินไทยจัดหาเครื่องยนต์สูงกว่าที่ควรจะเป็น ในเบื้องต้นการบินไทยอยู่ระหวางพิจารณาข้อกฎหมายว่าสามาถดำเนินคดีทางแพ่งได้หรือไม่

Advertisement

“ขณะนี้การบินไทยได้ทั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อกล่าวหาแล้ว และได้มีการประสานงานกับทางโรลส์-รอยซ์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และประสานความร่วมมือกับภาครัฐทั้งป.ป.ช.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)” ร.อ.กนกกล่าว

นายเมธีกล่าวว่า จริงๆแล้วเรื่องสินบนข้ามชาตินั้น บริษัทที่ทำธุรกรรมกับต่างประเทศแล้วพยายามติดสินบนให้ได้โครงการเป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไป แม้จะมีกฎหมายการต่อต้านการทุจริตข้ามชาติแต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะรัฐบาลไม่เอาจริง แต่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำการหยุดยั้งการคอร์รัปชัน บริษัทที่ทำการซื้อขายในตลาดหุ้นวอลสตรีทจะเข้าข่ายเป็นผู้อยู่ในอาณาบริเวณของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะไปทำผิดในต่างประเทศสหรัฐอเมิรกาก็สามารถตามไปเล่นงานได้ คดีโรลส์-รอยซ์จึงโดนปรับ 2 เด้ง ทั้งจากรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ยังทำสถิติการเป็นบริษัทต่างชาติที่ถูกปรับเป็นจำนวนเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากยอมรับสารภาพว่ามีการติดสินบนจริง ทางกระทรวงยุติธรรม อังกฤษจะชะลอการฟ้องออกไป

นายบรรยงกล่าวว่า คอนเซ็ปท์ของกระบวนการหาข้อเท็จจริงจะต้องมีป.ป.ช.เป็นเจ้าภาพ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐวิสาหกิจอย่างการบินไทย ปตท.จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนหน่วยงานภายใน แต่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ควรจะให้ความร่วมมือกับทางป.ป.ช. สำหรับกระบวนการสืบหาข้อมูลของเอสเอฟโอใช้เวลาถึง 4 ปี เพื่อขุดค้นข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับการรับสินบนถึง 25 ปี นับว่าคดีนี้เป็นงานโบว์แดงของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อจะเสาะหาข้อมูลที่ใช้ทรัพยากรบุคคล งบประมาณจำนวน 13 ล้านปอนด์ โดยรวบรวมเอกสารกว่า 30 ล้านชิ้น สะท้อนให้เห็นนิมิตหมายอันดีในการดำเนินการปราบปราบการทุจริตอย่างจริงจัง

Advertisement

“จากกรณีตัวอย่างของเอสเอฟโอนี้มองว่า ระหว่างที่กำลังมีการดำเนินคดี จะสามารถป้องกันการคอร์รัปชันได้โดยการประเมินและจำลองสถานการณ์ขึ้นมา โดยไม่ได้กล่าวหาบุคคลที่ถูกพาดพิง โดยการออกแบบว่าจะสามารถกำกับดูแลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ได้อย่างไรบ้าง”นายบรรยงกล่าว

นายบรรยงกล่าวว่า จะตั้งคำถามประมาณ 5 ประเด็นคือ 1.ทำไมโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในโลกจะต้องจ่ายสินบน จ่ายเพื่ออะไร หรือจ่ายเพื่อการล็อคสเปค ไม่ต้องแข่งขันตามทฤษฎีการติดสินบน ที่ผลประโยชน์ที่ได้จากการไม่ต้องประกวดราคาจะมีมากกว่าการจ่ายสินบนหรือค่าตอบแทนพิเศษ 2.บริษัทรายอื่นในโลกทำหรือไม่ หรือมีแต่เพียงโรลส์-รอยซ์เท่านั้น 3.หน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทยอื่นๆ อีก 51 แห่ง มีการรับสินบนหรือไม่ นอกจากการบินไทย ปตท. หรือกรณีเคเบิลอย่าง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รวม 5 แห่งที่กำลังมีคดีในขณะนี้ 4. แล้วประเทศอื่นๆ ในโลกนอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี แล้วมีการจ่ายสินบนหรือไม่ และ 5.การรับสินบนของรัฐวิสหกิจจะหายไปกับการปฎิวัติหรือไม่

“การให้สินบนในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ โดยจะขอตั้งชื่อว่าเป็น “อุตสาหกรรมการเป็นผู้ประสานงานขายของให้ภาครัฐ” มีการขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่เคยถูกจับได้ มีกำไรมาก ตราบใดที่ผลประโยชน์มากกว่าโทษคูณด้วยโอกาสที่ถูกจับได้ ซึ่งแทบจะเป็นศูนย์ทำให้มีการขยายตัวมาก ทั้งนี้หากรวมการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะพบว่ามีงบประมาณรวม 3 ล้านล้านบาท หากคำนวณคร่าวๆ ว่าแต่ละปีมีการคอร์รัปชัน 8% จะคิดเป็นจำนวนเงินที่คอร์รัปชันถึง 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้มองว่ากฎหมายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการจะตอบโจทย์ให้กับบทเรียนการรับสินบน ในประเด็นการแยกบทบาทรัฐบาล โดยการแยกผู้กำหนดนโยบาย การกำกับดูแลออกจากกัน หรือเรียกว่าเป็นกันอำนาจผู้มีอำนาจเหนือองค์กร” นายบรรยงกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image