เพื่อไทย ย้ำ ศก.-ส่งออก ปี 67 ไม่กระเตื้อง ป้อง ดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ โพลทำตัวอย่างน้อย

“ลิณธิภรณ์” เปิดตัวเลข ธปท.-สศค.-พณ. ชี้ศก.-ส่งออกไทยปี 67 ไม่กระเตื้อง โต้ผลโพลไม่เอาดิจิทัลวอลเล็ตเหตุสำรวจคนน้อย ย้ำเป้านายกฯ ดันดิจิทัลวอลเล็ตหวังอัดฉีดเงินเข้าระบบ กระตุ้นฐานราก

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงผลสำรวจ Leadership Poll มหาวิทยาลัยรังสิตในประเด็นความคิดเห็นต่อนโยบาย “เงินหมื่นดิจิทัล” ของรัฐบาล โดย 62.20% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวและเห็นควรให้ระงับการดำเนินการว่า การสำรวจครั้งนี้มีการเก็บข้อมูลทั้งสิ้นเพียง 543 ตัวอย่าง ด้วยวิธีคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใน 4 กลุ่ม ได้แก่

1.ผู้นำภาคธุรกิจ: ตัวแทนนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
2.ภาคประชาสังคม:ตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย
3 ภาคการเมือง:นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกและรองนายก อบจ.นายกและรองนายก อบต.ในทุกภูมิภาคของประเทศ
4.ภาคการศึกษา:นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของโพลข้างต้น ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับประชาชนที่เป็นเป้าหมายหลักของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และเป็นเป้าหมายสำคัญจากฐานราก ที่รัฐบาลเพื่อไทยให้คำมั่นสัญญาจะเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแรง และกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ ดังที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยแถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 66 ว่า “นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เป็นการลงทุนที่มอบสิทธิและอำนาจให้กับประชาชนช่วยกันกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในภาคประชาชน ทั้งการรวมเงินในครัวเรือนเพื่อประกอบอาชีพ การซื้อ-ขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงการสั่งผลิตสินค้าในโรงงาน SME ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่”

Advertisement

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นโดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มกราคม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงเหลือโตเพียง 1.8% และล่าสุดมีรายงานว่าโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลง จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 2.4% แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะต่ำกว่า 2% หรือไม่ มากไปกว่านั้น สำหรับตัวเลขการส่งออกปีนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 66 ว่าเบื้องต้นมีการประเมินเป้าหมายส่งออกไทยปี 2567 ว่าจะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 1.99% มูลค่า 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับที่ภาคเอกชนประเมินในฝั่งการผลิต คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 0-2

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นตัวเลขส่งออกของไทยในปีนี้จึงถือว่าเติบโตน้อยกว่าสิ้นปีที่ผ่านมา ดังที่นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สรุปมูลค่าการส่งออก ณ เดือนธันวาคม 66 ที่กลับมาขยายตัวได้มากถึง 4.7% มูลค่า 22,791 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7.95 แสนล้านบาท ส่งผลภาพรวมทั้งปีประเทศไทยขาดดุลการค้าอยู่ที่ 5,192 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตัวเลขจากหน่วยงานทางการเงินและการคลังเหล่านี้ ทั้งแบงก์ชาติ สศค.และกระทรวงพาณิชย์ต่างหาก ที่สะท้อนภาพจริงที่พี่น้องประชาชน 60 กว่าล้านคนกำลังประสบทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจเพียง 5 ร้อยกว่าคน ขอย้ำว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ คือ สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเล็งเห็นและตระหนักอย่างดียิ่ง เราจึงให้คำมั่นสัญญาและดำเนินตามความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image