คลัง ต่ออายุเว้น VATคริปโทฯ คาดสูญรายได้ 70 ล้าน จ่อพบบิทคับ ถกทิศทางตลาด

คลัง ต่ออายุเว้น ภาษีแวตคริปโทฯ ขยายถึงนายหน้า-ผู้ค้า คาดสูญรายได้ 70 ล้านบาท จุลพันธ์ จ่อพบ บิทคับ หารือทิศทางตลาดคริปโทฯ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสําหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สําหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซี (โทเคนดิจิทัล) ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange), นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จากเดิมยกเว้นภาษีแวตเฉพาะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น

“การยกเว้นภาษีแวตให้กับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เพียง 70 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น เนื่องจากอยู่ในระบบไม่กี่ราย และมีหลายแพลตฟอร์มมาก ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ไม่เห็นขนาดของตลาดว่าใหญ่ขนาดใด แต่เชื่อว่ามีมูลค่ามหาศาล อย่างไรก็ตาม การยกเว้นภาษีดังกล่าว เป็นการสร้างบรรยากาศการลงทุน และอำนวยความสะดวกเพื่อจูงใจให้นักลงทุนนำมาต่อยอดและลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะเชิญนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง มาหารือถึงแนวทางการพัฒนาขับเคลื่อนธุรกิจสินทรัพย์ของประเทศไทยในอนาคต ส่วนเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ

Advertisement

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความเท่าเทียมกันในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่. …) พ.ศ. … ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกรณีดังต่อไปนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

น.ส.กุลยากล่าวว่า 1.การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2.การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ผ่านนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 3.การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ให้แก่ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

Advertisement

น.ส.กุลยากล่าวว่า 4.การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดย Dealer ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอน Investment Token ทั้งในตลาดแรกและในตลาดรองได้ดำเนินการเป็นการถาวรแล้ว โดยตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 779) พ.ศ.2566 มีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image