‘รัฐ-เอกชน’ปิดช่องโหว่ข้อมูลรั่ว จับมือสร้างตระหนักรู้ PDPA

‘รัฐ-เอกชน’ปิดช่องโหว่ข้อมูลรั่ว
จับมือสร้างตระหนักรู้ PDPA

หลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019)) เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต และมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ไม่ตระหนักรู้

ดังนั้น วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ตระหนักรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล และมีผู้ที่เกี่ยวข้องได้ออกมากล่าาถึงความคืบหน้า

โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า งานครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ถึงความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการผนึกกำลังความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศให้มีความก้าวหน้าตามมาตรฐานสากล และเน้นให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของ-การออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลให้ข้อมูลมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเก็บ ใช้ และประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นอย่างมีความรับผิดชอบ

Advertisement

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด”

นายประเสริฐระบุต่อว่า ด้านการเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ตระหนักรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ในวันนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลให้กับทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศและยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ทัดเทียมกับสากล เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งกับภาครัฐบาล เอกชน รวมถึงประชาชนทุกคน เนื่องจากความปลอดภัยในข้อมูลของประชาชนเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง โดยเฉพาะหน่วยงานต่างๆ ที่มีการเก็บข้อมูลบุคคล และต้องรักษาข้อมูลดังกล่าว ไม่ให้เกิดการหลุดรั่วออกไป หากมีการรั่วไหลของข้อมูลถือเป็นเรื่องร้ายแรงและจะมีปัญหาใหญ่ตามมา ดังนั้น จึงต้องมีการให้ความรู้และตระหนักรู้ในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการเก็บรักษาไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต เนื่องจากภาครัฐบาลและธุรกิจต้องรักษาความเชื่อมั่นกับผู้ใช้บริการ หรือประชาชนทุกคนด้วย

ด้าน นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ และได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดำเนินการกำกับดูแลแบบเชิงรุก ให้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบเชิงรุก หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA อย่างเคร่งครัด โดยจัดตั้งศูนย์ PDPC Eagle Eye คอยตรวจสอบเฝ้าระวัง หากพบหน่วยงานทั้งภาครัฐหรือเอกชน มีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในช่องทางต่างๆ อย่างไม่เหมาะสม หรือมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA สำนักงานจะแจ้งเตือนให้แก้ไข หรือลงโทษทางปกครองอย่างเคร่งครัดต่อไป

Advertisement

ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จะต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีความตระหนักรู้ในการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA อย่างถูกต้องและทั่วถึง โดยสำนักงานเล็งเห็นว่าการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร จะช่วยให้การดำเนินการกำกับดูแลและส่งเสริม ให้เกิดการพัฒนาความรู้ ความตระหนัก ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในภาคส่วนต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

โดยมีขอบเขตและวัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือ ดังนี้ 1.ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความตระหนักรู้ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกำกับดูแลการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 2.ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ เพื่อให้บุคลากรของทั้งสามฝ่าย และสมาชิกที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักรู้ และสามารถปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้อย่างถูกต้อง และ 3.ร่วมกันสนับสนุนบุคลากร สถานที่ งบประมาณ หรือทรัพยากรอื่นๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามบันทึกข้อตกลงนี้

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ โดยทั้งสามหน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหาร (Executive PDPA) เพื่อให้ผู้บริหารกิจการ มีความรู้ ความข้าใจ ความตระหนัก เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA ร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) ในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน PDPA ที่จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อให้กับสมาชิกผู้ประกอบการในเครือข่ายได้อย่างทั่วถึง ทั้งร่วมกับหอการค้าจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญด้าน PDPA ประจำอำเภอ และประจำจังหวัด เป็น PDPA Champion สามารถให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ได้ สอดรับกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีในการสร้าง 1 อำเภอ 1 IT Man

ร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในแต่ละเซ็กเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีการเก็บรวบรวม ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเป็นจำนวนมาก และร่วมกันสร้างเครือข่ายและพัฒนาองค์ความรู้ ให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) ของผู้ประกอบการที่ต้องจัดให้มี DPO ตามที่กฎหมายกำหนด และร่วมกันจัดอบรมหรือสัมมนาด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับภาคธุรกิจการค้า ทั้งในรูปแบบต่างๆ เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจแล้ว PDPA ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธุรกิจ ทั้งการเตรียมพร้อม ปรับรูปแบบ การเก็บข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย รวมถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อข้อมูลที่มีลดน้อยลง ภาคธุรกิจเอกชน จึงเห็นความสำคัญในการเผยแพร่เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศ กล่าวว่า ยุคที่ธุรกิจขับเคลื่อนด้วยบิ๊กดาต้าการปรับกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) และสตาร์ตอัพ ต้องแก้ปัญหาเพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปในอนาคต เพราะข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ ทั้งด้านการวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า เพื่อนำไปในใช้ในด้านการตลาด รวมถึงพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ แต่ในทางกลับกันหากไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ ก็อาจนำมาสู่การถูกโจรกรรมข้อมูล และนำไปใช้ข้อมูลในทางที่ผิด จากประเด็นนี้ส่งผลให้เกิด PDPA ขึ้นมาในประเทศไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า PDPA ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อสถานบันการศึกษา โดยเฉพาะการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เรียนในสถานศึกษา เป็นเรื่องที่ต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศในยุโรป) ให้ความสำคัญและเป็นกระแสตื่นตัวกันอย่างมากมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) ซึ่งสถานศึกษา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ต่างมีนโยบายและมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกมาให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน โดยมีการประกาศเอาไว้อย่างชัดแจ้งบนหน้าเว็บไซต์ของสถานศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image