อ.วิศวฯแนะพลังงานทางเลือก “โซลาร์เซลล์” เหมาะสุด ไทยมีศักยภาพ

นายพัลลภ ภิญโญวิวัฒน์ รักษาการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงานทดแทน กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “อุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลด้วยพลังงานสะอาด Moving Thai Industry Beyond Others by Clean Energy” ว่าปัจจุบันหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในอนาคตจะขับเคลื่อนจากเทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

นายเชิดพงษ์ ดีเลิศไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือวัดและอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า การใช้พลังงานสะอาดที่เหมาะสมกับไทยมากที่สุดคือ พลังงานแสงอาทิตย์ โดยการใช้โซลาร์เซลล์ เนื่องจากปัจจัยทางภูมิประเทศอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร ติดตั้งได้ง่าย เมื่อเทียบกับจีนและญี่ปุ่น ที่เป็น 2 ประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สูงที่สุดในโลก ในอัตรา 11-15 กิกะวัตต์ต่อปี แต่มีจำนวนชั่วโมงที่มีแสงแดดเฉลี่ย 3-4 ชั่วโมงต่อวัน น้อยกว่าไทยที่มีจำนวนชั่วโมงที่มีแสงแดดประมาณ 7 ชั่วโมงต่อวัน จึงมองว่าไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้มีการใช้โซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นในอนาคต

นายปัญญวัฒน์ โกมุทบุตร ผู้จัดการโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงพลังงานมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ผ่านกองทุนสำนักอนุรักษ์พลังงาน โดยจะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ผ่านธนาคารที่เป็นพันธมิตรให้กับผู้ประกอบการในวงเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท ระหว่างปี 2559-2563 ปัจจุบันกองทุนฯ อนุมัติโครงการไปแล้ว 60 โครงการ วงเงิน 1,100 ล้านบาท หรือเฉลี่ยโครงการละ 50 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์และการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแอลอีดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image