เอสเอ็มอีแบงก์ เผยปี 66 ปล่อยสินเชื่อใหม่พุ่ง 7.06 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 22 ปี

เอสเอ็มอี แบงก์ เผยปี 66 ปล่อยสินเชื่อใหม่พุ่ง 7.06 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 22 ปี ตั้งเป้าปี 67 ที่ 9 หมื่นล้านบาท เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่มีนาคมนี้

น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี แบงก์ กล่าวว่า ผลดำเนินงานปี 2566 นั้น เอสเอ็มอีแบงก์สร้างสถิติใหม่สูงสุด นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมาใน 22 ปี สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้ 7.06 หมื่นล้านบาท โดยช่วยสร้างประโยชน์เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 3.23 แสนล้านบาท รักษาการจ้างงานประมาณ 1.23 แสนราย นอกจากนั้นช่วยพัฒนาเสริมแกร่งธุรกิจอีกกว่า 2.4 หมื่นราย ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 613 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ 8.38% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 22 ปีเช่นกัน

“เราสามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้เสียให้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากในอดีตที่ผ่านมา หนี้เสียแบงก์อยู่ที่ 22% และยังมีเอสเอ็มอีที่อ่อนแอและอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบงก์ยังมีการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีสูงกว่า 103.4% ถือว่ามีความแข็งแกร่ง ส่วนปี 2567 เราวางเป้าหมายปล่อยสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอี 9 หมื่นล้านบาท”น.ส.นารถนารี กล่าว

น.ส.นารถนารี กล่าวว่า ทั้งนี้ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ( ปี 2563-2566) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด ซึ่งเอสเอ็มอี แบงก์ ช่วยเหลือดูแลเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ให้สามารถประคับประคองธุรกิจ และข้ามผ่านความยากลำบากไปได้ โดยเติมทุนช่วยเอสเอ็มอีกว่า 2.31 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 7.52 แสนราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและกลับมาฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

ADVERTISMENT

น.ส.นารถนารี กล่าวว่าสำหรับปี 2567 การทำงานของเอสเอ็มอี แบงก์ ยกระดับไปอีกขั้น นำระบบดิจิทัลใหม่ หรือ Core Banking System ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี มาใช้งานอย่างเป็นทางการ สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ครบวงจร นอกจากนั้น ยังมีแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning สามารถปรึกษาโค้ชมืออาชีพแบบตัวต่อตัว รวมถึง ยังช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด นอกจากนั้น ยังนำหลัก อีเอสจี (ESG) (การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance)) มาขับเคลื่อนในทุกมิติขององค์กร

น.ส.นารถนารี กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี นโยบายการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (amc) ของสถาบันการเงินของรัฐนั้น เอสเอ็มอีแบงก์ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในกรณีดังกล่าว แต่ถ้าในสมาคมสถานบันการเงินของรัฐมีการเชิญชวน แบงก์เราก็สนใจ โดยจะตัดหนี้ขายให้บริหารสินทรัพย์ ประมาณ 8 พันล้านบาท จากมูลหนี้ ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ 2 หมื่นล้านบาท

ADVERTISMENT

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image