‘พิมพ์ภัทรา’โรดโชว์ญี่ปุ่นดึง2หมื่นล. ลุยศึกษากรีนยูทิลิตี้ พลังงานสีเขียว

‘พิมพ์ภัทรา’โรดโชว์ญี่ปุ่นดึง2หมื่นล้าน เอ็มโอยูไอเอชไอศึกษากรีนยูทิลิตี้ ถกเมติลุยพลังงานสีเขียว

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหากรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอข้อมูลพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพ และความพร้อมรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยได้พบกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้นำด้านเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น 3 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เพื่อหารือถึงการขยายการลงทุนในอนาคต เบื้องต้นนักลงทุนสนใจจึงมีโอกาสขยายการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะให้กนอ.หารือในรายละเอียดต่อไป

“มั่นใจจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายด้าน ได้แก่ เพิ่มมูลค่าการส่งออก เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมโยงซัพพลายเชนในประเทศอีกด้วย”น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค(ประเทศไทย) จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (กรีน ยูทิลิตี้) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว โดยคาดว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต

Advertisement

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การลงนามเอ็มโยูต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ที่ กนอ.ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมไทยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาความเป็นไปได้ 1 ปี ระยะที่ 2 ตั้งโรงงานต้นแบบ และระยะที่ 3 ร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์ หากผลการศึกษาเป็นไปได้ความร่วมมือนี้จะช่วยบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียวกับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยและบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

นายวีริศ กล่าวว่า นอกจากนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าประชุมเจรจาความร่วมมือร่วมกับ นายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) และคณะ เพื่อหารือร่วมกันถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต (Next generation automobiles) และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ประเทศ

Advertisement

นายวีริศ กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมฯ ที่อยู่นอกอีอีซี 522 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image