ชำแหละมติ กนง.เสียงแตก กูรูจับตาจังหวะเบรก ‘ดอกเบี้ย’ สภาพ ศก.-การเมืองไล่บี้

ชำแหละมติ กนง.เสียงแตก กูรูจับตาจังหวะเบรก‘ดอกเบี้ย’ สภาพ ศก.-การเมืองไล่บี้

ร้อนระอุตลอดสัปดาห์ หลังผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ด้วยเหตุผลเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน บทสรุปไม่ได้พลิกโผจากคาดการณ์ของภาคเอกชน และศูนย์วิจัยเฉพาะทางเศรษฐกิจ แม้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดหวังเล็กๆ ว่าดอกเบี้ยจะลดลงก็ตาม

แต่ที่ผิดหวังหนักสุดคงจะเป็น “รัฐบาล” นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งก่อนการประชุม กนง.วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ได้ออกโรงกระทุ้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านสื่ออยู่หลายระลอก ว่าขอให้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะหลายภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) รวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบหนักจากภาวะการเงินตึงตัวและดอกเบี้ยขาขึ้น

รวมถึงให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตแล้ว!

สะท้อนข้อมูลจากกระทรวงการคลัง คาดปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัว (จีดีพี) ที่ 1.8% มีค่ากลาง 1.6-2.0% ชะลอลงจากปี 2565 ขยายตัว 2.6% รวมถึงกระทรวงพาณิชย์เปิดตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2567 ติดลบ 1.11% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งติดลบเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน อีกทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ระหว่างติดลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% ค่ากลาง 0.7%

Advertisement

ด้าน ธปท.ออกมายอมรับว่าเตรียมปรับจีดีพีปี 2566 อยู่ที่ราว 2% จากเดิม 2.4% สาเหตุหลักๆ จากเศรษฐกิจไตรมาส 4/2566 แผ่วลงและเป็นที่มาการปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2567 อยู่ที่ 2.5-3% ลดลงจาก 3.2% รวมถึงประเมินอัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ทรงตัวระดับต่ำใกล้เคียง 1% จากเดิม 2.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิมที่ 1.2%

เรื่องดอกเบี้ยส่งผลโดยตรงต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ 90.9% ต่อจีดีพี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้สถาบันการเงินไทย 10 แห่ง โกยกำไรปี 2566 ทุบสถิติรวมกันกว่า 2.3 แสนล้านบาท แต่สวนทางกับการปล่อยสินเชื่อน้อยลง

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปิดปี 2566 สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โตเพียง 0.2% ชะลอลงจากปี 2565 ขยายตัว 2.7% และคาดว่าปี 2567 สินเชื่อโตกรอบ 2.5-3.5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของสินเชื่อ 4.2% ในช่วงระยะ 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด

Advertisement

จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์พร้อมตั้งคำถามถึง กนง.ว่าคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับสูงท่ามกลางเศรษฐกิจออกอาการทรุดตัวลง เหมาะสมหรือไม่ เพราะการคาดการณ์เศรษฐกิจของหน่วยงานหลักต่างหลุดจากกรอบเป้าหมายทุกตัว

อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากมติ กนง.เสียงข้างน้อยเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง คล้ายกับส่งสัญญาณกลายๆ ว่าอาจเห็นการลดดอกเบี้ยไทยเร็วขึ้นหรือไม่?

⦁ลุ้น กนง.ลดดอกหลัง ศก.หลุดเป้า

เรื่องนี้ กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ฉายภาพการประชุม กนง.ล่าสุด ว่ามีมติลักษณะนี้สะท้อนความจริงว่าดอกเบี้ยของ ธปท.อยากจะกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติ (Neutral rate) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวควรอยู่ระดับใด ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2-2.50% คงอยู่ได้ทั้งหมด

หากย้อนกลับไปช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดอัตราดอกเบี้ยระดับ 1.75% และปรับลดลง 1.50% ซึ่งการกลับมาของดอกเบี้ยระดับเกิน 1.75% ถือว่าใช้ได้ เพียงแต่ต้องประเมินดอกเบี้ยจะจอดตรงไหน

ถ้าดู 2.50% มาจาก กนง.ประเมินเศรษฐกิจระดับหนึ่ง และประเมินมาตรการกระตุ้นของภาครัฐบาลไว้ระดับหนึ่ง แต่เวลานี้เศรษฐกิจแย่กว่าที่คิด เงินเฟ้อดีกว่าที่คิด ติดลบต่ำกว่าเป้าหมายการควบคุมของ ธปท. ขณะเดียวกันรัฐบาลยังไม่สามารถทำมาตรการกระตุ้นได้ตามที่คาดหวัง จึงมองว่าอาจลดดอกเบี้ยได้ เพียงแต่จะลดดอกเบี้ยช่วงใด

“แม้ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยแต่ก็คงลดไม่มากนัก หรือลดได้เล็กน้อย ดังนั้น ถ้าลดได้เล็กน้อยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะไม่มากซึ่งรัฐบาลต้องไปสนับสนุนให้ทำมาตรการอื่นมากขึ้น และไม่ควรทิ้งความหวังทั้งหมดไว้ที่ดอกเบี้ยของ ธปท.” กอบศักดิ์ระบุ

กอบศักดิ์ยังระบุว่า จากการประเมิน กนง.จะลดดอกเบี้ยไม่มากและมองว่าดอกเบี้ยปกติอยู่ระหว่าง 2-2.50% จึงแล้วแต่ ธปท.จะคิดว่าตัวเลขเหมาะสมกับเศรษฐกิจช่วงใด แต่เมื่อลดได้ไม่มาก หมายความว่าการกระตุ้นจากดอกเบี้ยได้ไม่เยอะ ดังนั้น รัฐบาลควรทำมาตรการอื่นพร้อมกันน่าจะดีกว่า

ขณะเดียวกัน ธปท.มองว่าปลายปี 2567 เศรษฐกิจจะดีขึ้นอาจพิจารณาไม่ลดอัตราดอกเบี้ย เพราะกว่าดอกเบี้ยจะส่งผลใช้เวลานานเป็นปี และหลังจากนั้นอาจเผชิญจังหวะไม่เหมาะสม ดังนั้น จึงอยากให้มีการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ทั้งนี้ เชื่อว่าการเจรจาอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะการลดดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปจะช่วยกลุ่มเปราะบางไม่เต็มที่ การปล่อยให้ดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ ธปท.กำหนด และขอให้ธนาคารช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจะช่วยเหลือเต็มเม็ดเต็มหน่วย ธนาคารจะให้คนพร้อมจ่ายดอกเบี้ยจ่ายไปก่อน แล้วนำเงินตรงนี้ไปช่วยคนไม่พร้อมจ่าย ลักษณะนี้จะช่วยให้ทุกคนผ่านความยากลำบากได้

ส่วนสิ่งที่รัฐบาลช่วยเหลือได้ อาทิ ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) หรือทำประกันสินเชื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดให้ฟื้นธุรกิจกลับมาได้ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากคาดนักท่องเที่ยวจะกลับมาในปี 2567 จำนวน 35 ล้านคน ควรให้ธุรกิจมีเงินทุนโดยเร็ว เมื่อหมุนเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวได้ดีจะส่งผลให้เศรษฐกิจภาคอื่นหมุนตาม

สุดท้ายมาตรการอื่นที่รัฐบาลทำได้คือ เปิดประเทศมากขึ้นอนุมัติให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ บริษัทข้ามชาติเข้าไทย ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำไปพร้อมกับการช่วยเหลือทางการเงิน เป็นมาตรการระยะยาว ทำให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้เวลานี้เตรียมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและออกมาตรการเศรษฐกิจดีๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยไปได้ จะสอดรับกับภาคการท่องเที่ยวกลับมา การส่งออกดีขึ้นปลายปี การลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยพร้อมเข้าสู่การฟื้นตัวรอบใหม่

⦁ธปท.หาจังหวะเลี่ยงการเมืองกดดัน

ขณะที่ บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีมุมมองต่อผลการประชุม กนง.ว่า หากพิจารณาจากผลการประชุมครั้งล่าสุด คณะกรรมการ กนง. 7 คน และมี 2 คน อยากให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่เสียงข้างมาก 5 คน ยังไม่เห็นด้วย โดยรวมการพิจารณาต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจชัดเจน

นอกจากนี้ การที่ ธปท.ปรับประมาณการทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 เป็นการเปิดทางว่า ธปท.ยอมรับเศรษฐกิจไม่ได้ดีตามที่คาดการณ์ไว้ก็สามารถลดดอกเบี้ยได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ธปท.รอความชัดเจนจากเรื่องมาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่าจะดำเนินการอย่างไร อาจพิจารณาและดูว่าจะเปลี่ยนท่าทีสื่อสารว่าจะดำเนินแนวทางนโยบายการเงินอย่างไรด้วย

กรณีที่ 1 หากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดไม่ผ่านช่วงต้นปี 2567 อาจเป็นจุดที่ ธปท.มองว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ และกรณีที่ 2 รอให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยก่อน คาดว่าจะลดดอกเบี้ยเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 ดังนั้น ถ้า ธปท.จะลดดอกเบี้ยเดือนเมษายน 2567 อาจเร็วเกินไป เพราะเรื่องมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตและการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังไม่ชัดเจน

ดังนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.มีโอกาสจะเห็นช่วงกลางปี 2567 ในการประชุมวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จากเดิมคาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยได้ช่วงปลายปี 2567 แต่จากผลการประชุมล่าสุดมีมติเสียงแตกจึงเป็นสัญญาณว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยได้

การดำเนินนโยบายการเงินต้องคำนึงถึงตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีดีพีจะมีการแถลงตัวเลขโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และตัวเลขเงินเฟ้อ รวมถึงตัวเลขเซ็กเตอร์ต่างๆ อาทิ ตัวเลขยอดการผลิต ยอดขายรถยนต์ ตัวเลขหนี้ครัวเรือน สะท้อนว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร

“การลดอัตราดอกเบี้ยไทย ธปท.ต้องดูจังหวะ เพราะเทรนด์ก่อนนี้คือช่วงขาขึ้น จะลดดอกเบี้ยต้องดูเวลา ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะนี้มีแรงกดดันจากภาคการเมือง หาก ธปท.เลือกลดอัตราดอกเบี้ยอาจสะท้อนว่าโอนอ่อนตามการเมือง จะส่งผลให้ธปท.ไม่เป็นอิสระ” บุรินทร์ระบุ

บุรินทร์กล่าวด้วยว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลงจะลดภาระทางการเงินของกลุ่มเปราะบาง ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยลงช่วงนี้ไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากไม่มีเงินเฟ้อ ไม่มีวิกฤตฟองสบู่ทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ความเสี่ยงมีไม่มาก ธปท.ลดดอกเบี้ยได้เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังสูง 3.6%

ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจเสี่ยงชะลอตัวอัตราดอกเบี้ยควรอยู่ระดับใดนั้น ไม่สามารถประมาณการได้ แต่ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ตัวเลขการขยายตัว เงินเฟ้อ ธปท.ลดดอกเบี้ยได้

⦁นโยบายการเงินไม่ใช่ยารักษาทุกโรค

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยระบุว่า ฝั่งรัฐบาลอยากให้ลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงเอกชน ภาคอุตสาหกรรม การค้า และอื่นๆ พยายามส่งสัญญาณว่ากำลังซื้อมีปัญหา เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอ เวลานี้เจอปัญหาจริงๆ เรื่องหนี้ครัวเรือนระดับสูงเป็นแรงกดดัน และแรงสนับสนุนในการลดดอกเบี้ย

ดังนั้น คาดการณ์การประชุม กนง.ในรอบถัดไปทั้งในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2567 โอกาสลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้ จากคาดการณ์เดิมจะลดดอกเบี้ยครึ่งหลังของปีนี้ ประเมินโดยเร็วที่สุดอาจเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน แต่การประชุม กนง.ในเดือนเมษายนยังต้องลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และมาตรการภาครัฐบาลเป็นอย่างไร

“หากตัวเลขเศรษฐกิจสะท้อนออกมาไม่ได้แตกต่างจากขณะนี้อาจหนีไม่พ้น กนง.จะลดดอกเบี้ยเดือนเมษายน” อมรเทพระบุ

อมรเทพระบุด้วยว่า ความเห็นต่างเรื่องนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง หากมองในอดีตเรื่องการประสานนโยบายการเงินและการคลังต้องเดินหน้าร่วมกันอยู่แล้ว แต่ ธปท.มีความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของการเมือง หรือรัฐบาล การแสดงความคิดเห็นต่างกันระหว่าง ธปท.และรัฐมนตรีคลัง เป็นสิ่งที่เห็นหลายยุคสมัย เพียงแต่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงและเปราะบางค่อนข้างมาก จึงเห็นความแตกต่างมากขึ้น

โดยเฉพาะฝั่งรัฐบาลจากปัญหาเรื่องงบประมาณปี 2567ยังไม่ผ่านขั้นตอนแล้วเสร็จ จนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 จึงต้องการใช้นโยบายทางการเงิน แต่ ธปท.มีเหตุผลในการดำเนินนโยบายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ย แต่ถ้าลดดอกเบี้ยแล้วเรื่องอาจไม่จบได้ง่ายๆ ต้องติดตามถ้าลดดอกเบี้ยจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ขนาดไหน

เพราะการลดดอกเบี้ยคือการผ่อนคลายความตึงเครียด แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหายไป ต้องรอจนกระทั่งมีงบปี 2567 หรือมาตรการเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่มีแค่เรื่องงบประมาณอย่างเดียว มาตรการเศรษฐกิจอื่นๆ ต้องเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้ากันต่อ ไม่ได้มองถึงความขัดแย้ง แต่มองว่าคือการประสานงานระหว่างกันมากกว่า

ทั้งนี้ ระยะยาวหากคงอัตราดอกเบี้ยต่ำลงเศรษฐกิจไทยจะเร่งแรงแค่ไหน ถ้าพิจารณาตามทฤษฎี เมื่อดอกเบี้ยต่ำจะเกิดการลงทุน เกิดการบริโภค เศรษฐกิจขยายตัว การผ่อนคลายมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเปราะบาง ส่งผลให้การฟื้นตัวเร่งแรงชั่วคราว แต่ระยะยาวจะมีปัญหา

ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาต้องดูเรื่องเสถียรภาพ นโยบายการเงินไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ต้องดูให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ เชื่อว่าโอกาสลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้เพราะเศรษฐกิจไทยตึงเกินไป ต้องดูเรื่องเวลา

“หากลดดอกเบี้ยจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่นั้น ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค การลดดอกเบี้ย หรือการดำเนินนโยบายทางการเงินจะทำได้ในลักษณะการดูเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ เรื่องปัญหาอื่นๆ เรื่องเงินเฟ้อได้บ้าง แต่อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาได้ทั้งหมด” อมรเทพกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนที่น่าสนใจ…ต่อจิ๊กซอว์แนวโน้มดอกเบี้ยในการประชุม กนง.เดือนเมษายนนี้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image