‘ประเสริฐ’ ยกเครื่องรัฐบาลดิจิทัล ลั่นได้เห็นแน่ในรัฐบาลนี้

‘ประเสริฐ’ ลั่นยกเครื่องรัฐบาลดิจิทัล เห็นจริงในรบ.นี้ ชี้ 5 ปี ปชช. 55 ล้านคนได้ใช้วันซุปเปอร์แอพพ์!

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การเปลี่ยนรัฐบาลในปัจจุบันเป็นรัฐบาลดิจิทัล คาดว่าจะดำเนินการได้จริงจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ขณะที่ต่างประเทศใช้เวลาถึง 10 ปี เช่น ประเทศเอสโตเนียใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐบาลดิจิทัลเริ่มในปี 2552 และสำเร็จในปี 2564 สำหรับประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วจึงมีการตั้งธงว่าในระยะเวลา 5 ปี หรือในอายุรัฐบาลนี้

“ซึ่งสิ่งที่จะได้เห็นเรื่องวันแอพพลิเคชั่นฟอลออล (ไทยแลนด์ซุปเปอร์แอพพ์) เป็นแอพพ์ที่คนไทยไม่น้อยกว่า 55 ล้านคน ใช้บริการร่วมกัน โดยจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ และจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลดิจิทัล โดยแอพพ์ดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร.” นายประเสริฐกล่าว

Advertisement

นายประเสริฐกล่าวว่า นอกจากนี้ ผลักดันให้หน่วยงานรัฐบาลเป็นรัฐบาลไร้กระดาษ (paperless) หรือให้ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้กระทรวงได้พูดคุยกับ สพร. จะไปพัฒนาโครงสร้างแอพพลิเคชั่นใช้สำหรับทุกหน่วยงานในประเทศใช้ระยะเวลาไม่นาน คาดว่าไม่เกิน 2 ปี จะจัดการแล้วเสร็จ

“ดีอีเอส ได้ดำเนินการเรื่องการทำงานแบบไร้กระดาษบ้างแล้ว และตอนแรกจะขอเป็นผู้นำในการทำ แต่เมื่อพูดคุยแล้วมีหลายความคิดเห็นระบุว่าข้อมูลตรงนี้ต้องเป็นข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้บางส่วน (Open Data) ดังนั้น ถ้าสิ่งที่ดีอีเอสทำอยู่ยังไม่สะดวก จึงต้องพัฒนาระบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลตามความจำเป็นได้ด้วย ซึ่งจะทำเป็นระบบที่ดีทีเดียวเลย” นายประเสริฐกล่าว

Advertisement

นายประเสริฐกล่าวว่า นอกจากนี้ ได้แถลงทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงในปี 2567 ซึ่งมี 7 เรือธง ประกอบด้วย 1.นโยบาย คลาวด์ เฟิร์ส (Cloud First Policy) ผลักดันการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก มุ่งสู่การเป็นคลาวด์ฮับของภูมิภาคมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประเทศที่ทันสมัย 2.เรื่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) 3.ผลักดันนโยบาย 1 อำเภอ 1 ไอทีแมน เร่งขับเคลื่อนดิจิทัลระดับภูมิภาค

4.การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Digital Manpower) ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 5.พัฒนาเซลล์บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) โดยมีระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง ทันสมัย สำหรับคนไทยทั้งประเทศ

6.แก้ปัญหาภัยออนไลน์ โดยยกระดับศูนย์ฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือศูนย์ AOC 1441 ใช้เอไอมาช่วยตรวจจับ วิเคราะห์ ประมวลผล ขยายผลกวาดล้าง บัญชีม้า และบัญชีของม้า

และ 7.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลยกระดับ Thailand Digital Competitiveness สู่ 30 ในปี 2569 จากอันดับ 40 ในปี 2565 ปี 2567 ดีขึ้น 2 อันดับ อันดับที่ 33 ในปี 2567 จากอันดับที่ 35 ในปี 2566 โดยจัดอันดับประจำปี 2566 ตามรายงาน IMD World Digital Competitiveness Ranking 2023 (ปี 2566)

“จากการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ในปีนี้ กระทรวงคาดหวังให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินการผ่านการทำงานตามแผนที่กล่าวมาข้างต้น แม้บางโครงการจะดำเนินการได่โดยไม่ใช่งบประมาณจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย” นายประเสริฐกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image