เตือนค่าบาทผันผวนหนัก หลังตลาดรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ วันนี้

เตือนค่าบาทผันผวนหนัก หลังตลาดรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ วันนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.88 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และประเมินกรอบในช่วง 35.75-36.15 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

นายพูนกล่าวว่า โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.84-35.95 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากโดยรวมเงินดอลลาร์ก็แกว่งตัวในกรอบ เพื่อรอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันอังคารนี้ (ตามเวลาประเทศไทย)

นายพูนกล่าวว่า สำหรับวันนี้ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนมกราคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอตัวลงต่อเนื่อง (จับตาที่โมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อ แบบ %m/m, %3m เทียบรายปี และ %6m เทียบรายปี) และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดได้ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจต่อคาดการณ์แนวโน้มการลดดอกเบี้ยเฟด ที่ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และอาจลดดอกเบี้ยราว -125bps หรือ 5 ครั้ง

ADVERTISMENT

แต่หากอัตราเงินเฟ้อกลับเร่งตัวขึ้น หรือไม่ได้ชะลอตัวที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจยิ่งกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดต้องกลับมาประเมินใหม่ว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ย และเฟดก็อาจลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดเท่านั้น (ลด 3 ครั้ง และอาจเริ่มการลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน) ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจยิ่งหนุนการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ และดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดย ZEW ของเยอรมนี และยูโรโซน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้ง BOE และ ECB

ADVERTISMENT

นายพูนกล่าวว่า สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท มีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนนี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ซึ่งก็สามารถกดดันให้นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาทยอยขายหุ้นไทยได้

อย่างไรก็ดี หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าทะลุระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริง มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าต่อเข้าใกล้โซน 36.15 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาด ทั้งผู้ส่งออก รวมถึงผู้เล่นต่างชาติที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ก็อาจทยอยขายเงินดอลลาร์หรือขายทำกำไรสถานะ Short THB ในช่วงดังกล่าวซึ่งจะเป็นโซนแนวต้านระยะสั้นถัดไป

อนึ่ง ในช่วงนี้ เงินบาทเริ่มกลับมาผันผวนสอดคล้องกับบรรดาสกุลเงินในฝั่งเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะ เงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้ต้องจับตาทิศทางของสกุลเงินฝั่งเอเชียดังกล่าวเช่นกัน โดยเราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนจีนอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากทางการจีนได้พยายามประคองเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่น กลับเป็นสกุลเงินที่เราประเมินว่า อาจมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOJ ซึ่งอาจย้ำจุดยืนไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย หรือ ขึ้นดอกเบี้ย น้อยกว่าที่ตลาดกำลังประเมินอยู่ (ล่าสุด ตลาดมองว่า BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 3-4 ครั้งในปีนี้)

“ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง”นายพูนกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image