ภูมิธรรม ถก อุตฯยานยนต์ หนุนส่งออก-เพิ่มผลิต รับกติกาโลกใหม่ หลังปี’66 หนี้ครัวเรือนฉุดกระบะติดลบ 30%

ภูมิธรรม ถก ส.อุตฯยานยนต์ หนุนส่งออก-เพิ่มการผลิต รับกติกาโลกใหม่ สร้างแต้มต่อการค้า เผยปีที่แล้วผลิตกระบะติดลบ 30% จากหนี้ครัวเรือน-เอ็นพีแอล

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้หารือกับผู้บริหารจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกี่ยวกับการขจัดอุปสรรคและแก้ปัญหา ทำให้การส่งออกและการผลิตยานยนต์ไทยให้เกิดความสะดวกสบาย รวมถึงสร้างผลผลิตและเพิ่มรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งมีข้อสรุป 4 เรื่อง ดังนี้

1.กระทรวงร่วมมือกับเอกชนในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และการค้าภายในประเทศให้เข้มแข็ง เป้าหมายการดำเนินงานเน้นเรื่องการลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค รวมถึงสนับสนุนการส่งออกไทยให้เพิ่มรายได้ 2.รัฐบาลพยายามแก้ไขอุปสรรคด้านกฎหมายที่มากในกระทรวงต่างๆ โดยรัฐบาลจะเดินหน้าทบทวนกฎหมายและนำไปสู่การแก้ไข

3.การผลักดันการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากการเดินหน้าเรื่องการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อสร้างตลาดการค้าใหม่ รวมถึงหานักลงทุนเข้าไทยมากขึ้น เพื่อหาช่องทางการหาวัตถุดิบหลากหลายและราคาถูก รวมถึงการผลักดันศักยภาพการผลิตไทย เพื่อรับกับกติกาโลกใหม่

Advertisement

และ 4.ที่ผ่านมา การส่งออกมีปัญหาเรื่องสิ่งปนเปื้อนติดไปกับสินค้าส่งออก เช่น ประเด็นรถยนต์ส่งออกไปออสเตรเลีย เกิดปัญหาดอกหญ้าและฝุ่นปนเปื้อนไปกับรถยนต์ ซึ่งกระทรวงได้ประสานกระทรวงเกษตรฯ และฝ่ายออสเตรเลีย ศุลกากร รวมถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ จะนำเรียนนายกฯ ให้ทราบเพื่อใช้ดูแลผู้ประกอบการไทยในการไปเยือนออสเตรเลีย

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย การส่งออกสินค้ายานยนต์ในปี 2566 มีมูลค่า 865,565.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.96% โดยมีตลาดออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกหลัก ในปี 2566 ไทยผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 1,156,035 คัน เพิ่มขึ้น 11.44% สินค้าส่งออก 4 อันดับแรก 1.รถยนต์นั่ง 2.รถปิกอัพ รถบัส และรถบรรทุก 3.รถจักรยานยนต์ และ 4.รถจักรยาน

Advertisement

“โดยประเทศที่ส่งออก 10 อันดับแรก 1.ออสเตรเลีย 2.ฟิลิปปินส์ 3.ซาอุดีอาระเบีย 4.ญี่ปุ่น 5.สหรัฐอเมริกา 6.เวียดนาม 7.เม็กซิโก 8.มาเลเซีย 9.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 10.อินโดนีเซีย ทั้งนี้ เอฟทีเอฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 15) ระหว่างไทย-ศรีลังกา ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของไทย” นายภูมิธรรมกล่าว

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า การผลิตเพื่อขายในประเทศ ปีที่ผ่านมาการผลิตเพื่อขายในประเทศติดลบประมาณ 8% แต่การส่งออกยังดีบวกประมาณ 11% สาเหตุหลักของการติดลบของการผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นเรื่องของปิกอัพเป็นหลัก ติดลบประมาณ 30% มาจากหนี้สินครัวเรือน และการปล่อยสินเชื่อในภาวะหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในระบบการขายรถยนต์สูง ดังนั้น สมาคมได้มาขอการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

“เช่น การเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายฉบับ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เงื่อนไขการส่งออกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และการทำธุรกิจที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนไปสู่ระบบไร้กระดาษ (เปเปอร์เลส) และการส่งออกไปจุดหมายสำคัญอย่างออสเตรเลียได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี” นายสุวัชร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image