คิดเห็นแชร์ : การย้ายฐานการผลิต จะกลายเป็นโอกาสของประเทศไทย

คิดเห็นแชร์ : การย้ายฐานการผลิต
จะกลายเป็นโอกาสของประเทศไทย

คิด เห็น แชร์ ฉบับนี้ ผมจะขอหยิบยกบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจของทางฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และเป็นธีมการลงทุนหลักในปี 2567 คือเรื่องของการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนและไต้หวันเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และประเทศไทยถือเป็นจุดหมายสำคัญของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมด้านไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์

นับตั้งแต่ประเด็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างประเทศจีน-สหรัฐ ในช่วงปี 2561 เป็นต้นมา ส่งผลให้เริ่มเกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงการกีดกันทางค้า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไต้หวันเริ่มตัดสินใจกระจายฐานการผลิตมายังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนามและไทย ที่เป็นจุดหมายหลักของการย้ายฐานการผลิต นอกจากนี้ ผมประเมินว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นระหว่างประเทศจีนและไต้หวันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมทั้งโอกาสที่สงครามการค้าระหว่างประเทศจีน-สหรัฐ จะปะทุขึ้นอีกครั้งหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงปลายปีนี้ จะยิ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ประกอบการตัดสินใจกระจายความเสี่ยง โดยการขยายกำลังการผลิตใน
ประเทศอื่นๆ แทนการขยายการลงทุนที่ประเทศจีนและไต้หวัน

นอกจากเพื่อลดความเสี่ยงโดยตรงของผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นประเด็นที่ลูกค้าในห่วงโซ่อุปทานต้องการให้ผู้ผลิตกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง ประเด็นนี้เป็นบวกโดยตรงกับประเทศที่มีความพร้อมสำหรับการลงทุนขยายกำลังการผลิตจากต่างชาติ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ต้องเตรียมความพร้อมและคว้าโอกาสนี้ให้ได้ ซึ่งจะช่วยหนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้

Advertisement

ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ทีมนักวิเคราะห์ของฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) เดินทางมาประเทศไทย เพื่อทำการเยี่ยมชมกิจการของผู้ประกอบการไต้หวันที่มีการลงทุนในประเทศไทย และประเมินว่าประเทศไทยมีจุดแข็งในการดึงดูดผู้ประกอบการให้ขยายการลงทุนมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว โดยจุดแข็งต่างๆ ได้แก่ 1.แรงงานจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยมีการเปิดรับแรงงานต่างชาติ เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงยังถูกกว่าที่ประเทศจีนโดยเฉลี่ยราว 30-40% 2.โครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนามารองรับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 3.พลังงานไฟฟ้าที่มีความพร้อมและมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค 4.การมีเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ และ 5.การสนับสนุนของภาครัฐ ผ่านผลสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ BOI

ผมประเมินว่าแม้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นปัจจัยลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกและกระทบถึงเศรษฐกิจไทยด้วย แต่จากประเด็นการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการออกจากประเทศจีนและไต้หวัน โดยมีไทยเป็น 1 ในจุดหมายปลายทางสำคัญของผู้ประกอบการ จะเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศไทยในด้านที่ประเทศไทยเรามีความพร้อมและมีศักยภาพรองรับการย้ายฐานการผลิต ซึ่งจะเป็นบวกโดยตรงต่อเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) และจะเป็นปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระยะยาว และเราได้เห็นการลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์อีวีจากประเทศจีน รวมทั้งการลงทุนขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแล้ว

Advertisement

โดยสรุป ผมยังคงมุมมองต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตามเดิมด้วยธีมการลงทุนหลักๆ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของทางฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) คือเรื่องการย้ายฐานการผลิตที่จะเป็นบวกต่อหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (รับการย้ายฐานผลิต และการเป็นฮับของรถยนต์อีวี) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (รับวัฏจักรการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในปีนี้ และการกระจายความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์) รวมไปถึงกลุ่มท่องเที่ยว (การท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย) และกลุ่มรับเหมาฯ (คาดเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ จะเร่งอัดฉีดเข้าสู่ระบบหลังล่าช้ามาในปีก่อน)

ดังนั้น ผมยังแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นไทย โดย Valuation ของดัชนี SET index ที่ระดับต่ำกว่า 1,400 จุด ถือว่าไม่แพง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดของวัฏจักรไปแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image