ศก.ไทยโตต่ำ ‘สภาพัฒน์’ มั่นใจ’67 ไปต่อได้ แม้หนี้สูง-โลกเสี่ยง!!

หลังหลายหน่วยงานเศรษฐกิจเปิดตัวเลขจีดีพีไทย ปี 2566 จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง ล่าสุดถึงคิวสภาพัฒน์ออกมาเปิดตัวเลขดังนี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 ขยายตัวได้เพียง 1.7% ทำให้ทั้งปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 จึงปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2567 เหลือโต 2.2-3.2% จากเดิมคาดโตประมาณ 2.7-3.7% เนื่องจากการลงทุนรวมติดลบ 0.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566

แบ่งเป็นการลงทุนเอกชนบวก 5% สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส เนื่องจากมีมาตรการเร่งรัดให้เอกชนลงทุนมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม แต่การลงทุนภาครัฐติดลบ 20.1% ซึ่งลึกกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะติดข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่ยังอยู่ในกระบวนการ แบ่งเป็นราชการปรับตัวลดลง 33.5% ในฝั่งรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายเพิ่มขยายตัว 7% และการส่งออกที่ติดลบเกือบทุกเดือน เพิ่งมาขยายตัวได้ในไตรมาส 4/2566

“ประมาณการจีดีพีปี 2567 ยังไม่รวมผลของการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทเข้าไป สาเหตุการปรับลดประมาณการจีดีพี หลักๆ มาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยง เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีเรื่องที่ทำให้ช็อกแบบฉับพลันมาแล้ว ปีนี้จึงมองว่าการส่งออกแม้ขยายตัวได้ดี แต่ในระยะถัดไป ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมาอีกหรือไม่ รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีปัญหาภายในอยู่ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องกับการส่งออกของไทย แต่เศรษฐกิจในประเทศ ยังคงขยายตัวได้อยู่” นายดนุชากล่าว

Advertisement

เลขาฯดนุชาระบุอีกว่า ภาคอุตสาหกรรม การส่งออกขยายตัว 3.4% แต่ภาคการผลิตไตรมาส 4 หดตัว 2.4% ภาคเกษตร การผลิตปรับลด 0.8% ภาคก่อสร้างปรับลด 8.8% มาจากเงินลงทุนภาครัฐไม่ออก การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ เร่งส่งออกในไตรมาส 4/2566 ค่อนข้างดี ส่วนภาคการท่องเที่ยว อัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 73.55% สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ลดลง 2.4% เป็นการลดลงต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติด

กลุ่มสินค้าที่มีการปรับลดลง เป็นสินค้าที่มีการส่งออก 30-60% ผลิตเพื่อการส่งออก มากกว่า 60% ซึ่งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มที่มีสัดส่วนส่งออก 30-60% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ประมาณ 11% ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตเพื่อการส่งออกสัดส่วนมากกว่า 60% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ประมาณ 9.9% ส่วนดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ ส่งออกน้อยกว่า 30% ขยายตัว 1.7% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.81% ต่ำสุดในรอบ 32 ไตรมาส และต่ำกว่า 0.99% ในไตรมาส 3/2565 และอยู่ที่ 1.15% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,084,577.1 ล้านบาท คิดเป็น 61.3% ของจีดีพี

Advertisement

เศรษฐกิจที่ออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย คือหนี้ที่สูงโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆ เกือบทั้งหมดแล้ว อาทิ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุนใหม่ในประเทศ แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจยังอยู่ ทำให้น่าจะถึงช่วงเวลาที่มาตรการการเงินเข้ามาช่วยเศรษฐกิจแล้ว

สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังในช่วงถัดไปคือ มาตรการด้านการเงินต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อาทิ อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเน้นลงไปภาครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง แต่แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ย ธปท.ต้องเป็นผู้พิจารณา หากทำได้เร็ว น่าจะมีส่วนช่วยได้พอสมควร คงต้องประเมินอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่ไปด้วย แต่หากมองมุมช่วยลดภาระ อัตราดอกเบี้ยคงต้องมีการพิจารณาแบบละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งต่อไป

ส่วนมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ อยู่ที่การออกแบบว่าออกมากระตุ้นการผลิตสินค้าและลงทุนให้มากขึ้นได้อย่างไร จึงขอหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการในช่วงถัดไป

การใช้มาตรการผ่อนคลายในกรณีชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ ปัจจุบันใช้อยู่ที่อัตรา 8% ของยอดชำระรวม อาจพิจารณากลับไปใช้ที่ขั้นต่ำ 5% อีกสักระยะ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อย มีกำลังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันธนาคารมีส่วนต่างประมาณ 5% เพื่อให้ภาคครัวเรือนและกลุ่มเอสเอ็มอีมีสภาพคล่องเพิ่ม รายย่อยต้องจ่ายเงินงวดผ่อนบ้าน เอสเอ็มอีและรายย่อยนำบัตรเครดิตมารูดใช้เป็นทุนประกอบอาชีพอย่างมาก หากรายใดมีปัญหาค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ต้องดึงลูกหนี้มาเจรจาหนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล เนื่องจากขณะนี้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไม่มีปัญหามาก

แต่ที่มีปัญหาคือครัวเรือนและเอสเอ็มอี จึงต้องหามาตรการออกมาช่วยให้เกิดการปรับตัวของส่วนต่างดอกเบี้ยกลุ่มเอสเอ็มอีและครัวเรือน โดยต้องมีมาตรการเข้าไปดูเป็นการเฉพาะ เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้มีการก่อหนี้มากขึ้นหรือการก่อหนี้เกินตัว เพื่อกำกับไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบด้วย

จากเศรษฐกิจที่โตในอัตราต่ำลงนั้น มองว่าอาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มไม่ดีแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ แต่การโตต่ำในปี 2566 หากดูทั้งปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยประสบภาวะความผันผวนจากภายนอกค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง มาขยายตัวได้อีกครั้งในไตรมาส 4/2566 เป็นลักษณะกลับกันจากปี 2565 ที่ส่งออกขยายตัวมาตลอดใน 3 ไตรมาสแรก พอไตรมาส 4 หดตัวลงค่อนข้างมาก แต่ปี 2566 ภาพกลับกัน ทำให้ผลกระทบในแง่จิตวิทยาคงมีอยู่ หากประเมินจากตัวเลขอื่นๆ ที่เป็นเศรษฐกิจภายใน อาทิ การบริโภค พักแรม การค้า ขนส่ง การเงิน ยังสามารถขยายตัวได้ดี

เลขาฯดนุชาทิ้งท้ายว่า ความกังวลปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (technical recession) หรือไม่ เพราะปัจจัยไตรมาส 1/2567 ดูไม่ได้แตกต่างจากไตรมาส 4/2566 ประเมินว่า ไตรมาส 1/2567 ต้องพิจารณาตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่จากสัญญาณการส่งออกดูดีขึ้น การบริโภคน่าจะยังคงไปได้ดี

และหากท่องเที่ยวและการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้นมาได้ โอกาสที่ไตรมาส 1/2567 จะเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิคคงลดลง แต่ยังต้องติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image