ไฮสปีดไทย-จีนวุ่น ติดหล่ม HIA สถานีอยุธยา รถไฟเร่งเคลียร์ ยันเดินหน้าต่อ

ไฮสปีดไทย-จีนวุ่น ติดหล่ม HIA สถานีอยุธยา รถไฟเร่งเคลียร์ ยันเดินหน้าต่อ

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ทำหนังสือถึงรฟท. ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ของสถานีอยุธยา ซึ่งเป็นเนื้องานอยู่ในสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ของโครงการถไฟความเร็งสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตามที่ยูเนสโกมีหนังสือให้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งมรดกโลก เป็นนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

“ทางสผ.ให้รฟท.ทำข้อมูลเพิ่มว่าเดิมมีกี่แนวเส้นทางเลือกและทำไมถึงเลือกเส้นทางนี้ เพราะรูปแบบรายงานที่ส่งไปนั้น ไม่เป็นไปตามที่ยูเนสโกแนะนำและให้ใส่ข้อมูลเพิ่มที่ตัดสินใจจะสร้างบนตำแหน่งเดิม ตามที่ออกแบบไว้แต่แรก เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา เนื่องจากที่ส่งไปสั้นเกินไป จึงให้ทำเสนอใหม่ ซึ่งรฟท.จะย้ำไปว่าเป็นแนวเส้นทางที่ประหยัดและมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดีสุด ทั้งนี้สผ.ไม่ได้กำหนดว่าต้องแล้วเสร็จเมื่อไรเมื่อทำเสร็จแล้วต้องส่งให้ทางยูเนสโกพิจารณาต่อไป”รายงานข่าวกล่าว

รายงานข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตามเพื่อให้โครงการได้เดินหน้า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ รฟท.จะเซ็นสัญญาก่อสร้างกับบริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ผู้รับเหมาสัญญา 4-5 มูลค่ากว่า 10,325 ล้านบาท จากนั้นออก NTP แจ้งให้เริ่มงานก่อสร้างโดยก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งไปก่อน เป็นทางยกระดับสูง 19 เมตร โดยอยู่ห่างจากพื้นที่มรดกโลกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ส่วนสถานีอยุธยารอจนกว่าผ่านHIA

Advertisement

รายงานข่าวกล่าวว่า สำหรับรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทาง 253 กิโลเมตร ใช้เงินก่อสร้าง 179,413 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้าง 14 สัญญา ซึ่งโครงการเริ่มเดินหน้าตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2560 ปัจจุบันงานก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 30% โดยสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรและช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร

ขณะนี้รอตรวจรับงาน อยู่ระหว่างสร้าง 10 สัญญา ยังไม่เริ่มสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้วระยะทาง 13.3 กม. และสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทางประมาณ 15.21 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็งสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ขณะที่การเวนคืนที่ดินไม่มีปัญหา รอสภาผู้แทนราษฏรอนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาทจ่ายค่าชดเชย และรอเคลียร์พื้นที่บางส่วน เช่น พื้นที่โคราช เชียงราก สระบุรี มวกเหล็ก ส่วนพื้นที่เกี่ยวข้องกับแผนงานหลักเคลียร์หมดแล้ว คาดว่าทั้งโครงการจะสร้างเสร็จภายในปี 2571

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image