กรุงศรี ยันยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย ชี้เศรษฐกิจยังไปต่อได้

กรุงศรี คาด กนง.ลดดอกกลางปีนี้ ชี้เศรษฐกิจยังไปต่อ ยันยังไม่จำเป็นต้องอัดยาแรงหั่นดอกเหลือ 1.25%

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ น.ส.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจโดยรวมทยอยฟื้นตัว แต่อัตราการเติบโตยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับ 3% ต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2567 คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 1.1% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 1.2% ในปีก่อน ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ข้อมูลในตลาดการเงินมีการคาดการณ์ว่าจะลดอัตราดอดเบี้ยลงถึง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ภายในปีนี้ ส่วนศูนย์วิจัยมองเป็นรอบการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และพิจารณาข้อมูลเป็นรายครั้ง อย่างไรก็ตาม ปกติเครื่องมือภาคการเงินจะใช้เวลาการส่งผ่านค่อนข้างนาน โดยอย่างน้อยที่สุดจะใช้เวลา 6-18 เดือน ดังนั้น สิ่งที่เห็นสถานการณ์หนี้สูง หรือกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบ ณ วันนี้อาจเป็นผลที่เกิดจากการใช้เครื่องมือทางการเงินช่วงก่อนหน้านี้

“เวลา กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และถ้าลดลงแรงจาก 2.50% เหลือ 1.25% จะเป็นภาวะที่เริ่มเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง จึงต้องใช้ยาแรง แต่เศรษฐกิจไทยขณะนี้เห็นการหดตัว หรือชะลอตัวรุนแรงหรือไม่ ขณะนี้เศรษฐกิจเหมือนรถที่ขับแล้วค่อยๆ ถอนคันเร่ง ไม่ได้เหยียบเบรก ไม่ได้เข้าเกียร์ถอย และตอนนี้เศรษฐกิจผ่านมายังไม่ 2 เดือนดี และยังเห็นตัวเลขเศรษฐกิจไม่มาก ทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังมีปัจจัยเสี่ยง แต่มองว่าดอกเบี้ยจะมีการปรับลดในปีนี้” น.ส.พิมพ์นารา กล่าว

ADVERTISMENT

น.ส.พิมพ์นารา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตตามวัฎจักรเศรษฐกิจ แม้การฟื้นตัวจะยังไม่กระจายตัวและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% ในปี 2567 จากเดิมคาดการณ์ที่ 3.4% โดยเร่งขึ้นจาก 1.9% ในปี 2566 ด้วยแรงส่งส่วนใหญ่จากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่

1.การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 28.2 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40 ล้านคน

2.การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.1% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

3.การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2567 หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีงบฯ ก่อน) ได้รับอนุมัติ ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 2.4% ตามลำดับ จากที่หดตัวในปี 2566

4.การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโต 3.3% ตามการเติบโตของภาคบริการ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ

“อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ เพราะเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แม้มีปัจจัยเฉพาะหนุนการส่งออกในบางกลุ่ม เช่น วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อานิสงส์จากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค เป็นต้น โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวเพียง 2.5% ในปี 2567 จากที่หดตัว 1.7% ในปีก่อนหน้า” น.ส.พิมพ์นารา กล่าว

เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ปัจจัยภายนอกที่อาจสร้างความเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศแกนหลักของโลกที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษอาจกดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป