ไทยส่งออกโต 10% สูงสุด 19 เดือน พณ.ชี้จีนตัวแปรหลัก จ่อพยุงยอด ทำทั้งปี’67 เป็นบวก

ม.ค.ไทยส่งออกโต10% สูงสุดรอบ19 เดือน พณ.เตือนปัจจัยรุมเร้ายังสูง ชี้จีนตัวแปรหลัก จ่อพยุง2.4หมื่นดอลล์/เดือน

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่กระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2567 ไทยส่งออกมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10% คิดเป็นเงินบาท 784,580 ล้านบาท และขยายตัว 10.2% เทียบมกราคมปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับจากเดือนมิถุนายน 2565 หากหักส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 9.2% และหากดูการส่งออกหลายประเทศในเอเชีย พบว่า การส่งออกแต่ละประเทศมีทิศทางดีขึ้นและเป็นบวกต่อเนื่อง เช่น เวียดนามบวก 42% ไต้หวัน 18% เกาหลีใต้ 18% สิงคโปร์ 15.7% อินเดีย 3.1% ที่ลด เช่น ญี่ปุ่นลบ 0.2% อินโดนีเซียลบ 8.1% ซึ่งการส่งออกที่ประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้น สะท้อนโมเมนตัมกำลังซื้อและเศรษฐกิจโลกขยับดีขึ้น เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ปัจจัยมูลค่าฐานการส่งออกต่ำช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีแรงหนุนจากการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารคงขยายตัวสูง

แม้ในเดือนมกราคมยังประสบปัญหาค่าระวางสูงจากเหตุการณ์โจมตีเรือในทะเลแดง โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 9.2% จากสินค้าสำคัญขยายตัวสูง อาทิ ข้าว 45.9% ไก่ 5% ยางพารา 5.5% ผลไม้ 30.1% เครื่องดื่ม 18.6% เช่นเดียวกับส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 10.3% สินค้าขยายตัวดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ 32.2% เหล็ก 106.3% ขณะที่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัว อาทิ ตลาดหลักบวก10.5% ทั้ง สหรัฐ 13.7% จีน 2.1% ญี่ปุ่น 1% สหภาพยุโรป (27) 4.5% อาเซียน 18.1%

นายกีรติกล่าวต่อว่า ขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% คิดเป็นเงินบาท 890,687 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 106,107 ล้านบาท

Advertisement

“นำเข้าแม้สูงถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อดูกลุ่มสินค้านำเข้า จะเป็นเครื่องจักรและกลุ่มทุนเพื่อนำมาเพิ่มกำลังผลิต ที่จะส่งผลต่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต สะท้อนว่ามุมมองต่อภาคเอกชนต่อการลงทุนและส่งออกดีขึ้น ”

นายกีรติกล่าวว่า สำหรับทิศทางส่งออกในเดือนถัดไปถึงมีนาคม 2567 มีโอกาสที่จะบวกได้ แต่ในเดือนมีนาคมอาจต่ำลงได้ เนื่องจากมีนาคมปีก่อนฐานส่งออกสูงถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว การได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง ขณะที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม อุปสรรคการขนส่งที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลในทางอ้อมทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจยังมีความผันผวน จากทิศทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐ

“จีนยังเป็นปัจจัยหลักต่อการส่งออกของโลก ต้องติดตามหลังเทศกาลตรุษจีนผ่านไป ว่าจะยังมีความต้องการและกำลังผลิตเพื่อส่งออกโลกอย่างไร และยังมีปัจจัยผันผวนได้อยู่มาก แต่กระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ผลักดันส่งออกให้ได้เดือนละ 24,069-24,328 ล้านเหรียญสหรัฐ จะส่งผลให้ทั้งปี 2567 ส่งออกไทยบวกได้ 1-2% จากปี 2566 ส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,713 ล้านเหรียญสหรัฐ”

Advertisement

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า 3 ประเด็นที่จะมีผลต่อส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้ คือ การฟื้นกำลังผลิตเพื่อส่งออกของจีนหลังหยุดยาวช่วงตรุษจีน ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงตอนนี้อยู่ที่ 83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และฐานส่งออกเดือนมีนาคมปีก่อนสูง เอกชนมองว่าจีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อการนำเข้าและส่งออกของโลก และมีผลกระทบต่อไทยด้วย โดยเฉพาะความต้องการด้านผลไม้ และยางพาราที่ใช้ในภาครถยนต์ ส่วนค่าระวางเรือจากเหตุโจมตีเรือในทะเลแดง เริ่มลดลงจากขึ้นไป 4-5 เท่า เช่นส่งไปยุโรป จ่ายตั้งแต่ 1-5 พันเหรียญสหรัฐต่อเรือต่อสั้น ตอนนี้เหลือ 2.5 พันเหรียญสหรัฐ หรือสูงกว่าก่อนเหตุการณ์ 1-2 เท่า ซึ่งก็น่าจะทรงตัวระดับนี้หากไม่มีเหตุการณ์ซ้ำอีก ซึ่งส่งออกเดือนมกราคมโตได้ 10% เป็นสัญญาณที่ดีต่อการค้าและส่งออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image