งาน(กางเกง)ช้างวิกฤต‘สินค้าจีน’ทะลักไทย รัฐบาลแก้เกมสกัด รีดภาษีแวต!!

งาน(กางเกง)ช้างวิกฤต‘สินค้าจีน’ทะลักไทย รัฐบาลแก้เกมสกัด รีดภาษีแวต!!

จากแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดจากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดดในทั่วโลก ถือเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทุกคนต้องตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้ดิจิทัลกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของผู้คนทั่วไปในแทบทุกกิจกรรม

โดยเฉพาะการค้าที่แข่งขันสูง เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกมากมายและช่องทางใหม่ที่น่าสนใจคือ การค้าออนไลน์ ที่นอกจากจะเน้นความสะดวกสบายแล้ว ยังทำให้ลูกค้าหาสินค้าที่ดี หรือที่ราคาถูกที่สุดได้จากทั่วโลก การตลาดของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์เองก็จัดสรรโปรโมชั่นสุดจะเอาใจขาช้อป ลดกระหน่ำสุดๆ เป็นไปตามหลักพื้นฐานง่ายๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือกสิ่งที่ดีและถูกที่สุด

นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าประเทศที่มีการพัฒนาการผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็ว จำนวนมาก และราคาถูก คือประเทศจีน ปัจจุบันผู้บริโภคไทยนิยมสินค้าจากจีนมากขึ้น คาดว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ส่วนใหญ่ผลิตและส่งออกจากประเทศจีน

⦁สินค้าซอฟต์พาวเวอร์ไทยผลิตขายโดยจีน
ที่ผ่านมาภาคเอกชนไทย โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีข้อเรียกร้องอย่างกว้างขวางถึงปัญหาการสั่งซื้อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่มีราคาถูกและไม่เสียภาษี จนเข้ามาตีตลาด กระทบต่อสินค้าที่ผลิตในไทย จนทำให้ผู้ค้าขายรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีราคาถูก คนไทยจึงนิยมหันไปบริโภคสินค้าจากจีน โดยเฉพาะตามแพลตฟอร์มออนไลน์

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี สินค้าจากจีนนั้นขาดการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนมีปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ ปัญหากางเกงลายช้าง แม้จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงถูกผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

แต่ปรากฏว่าสินค้าที่วางขายส่วนใหญ่กลับเป็นกางเกงที่ผลิตจากจีนและนำเข้ามาขายในไทย โดยเจ้าของร้านจำหน่ายเสื้อผ้าในย่านประตูน้ำยอมรับว่า ตลาดเสื้อผ้าที่ขายในไทยกันทุกวันไม่ว่าจะในย่านโบ๊เบ๊ หรือประตูน้ำ ผลิตในไทยเพียง 30% ที่เหลือ 70% เป็นการจ้างผลิตนอกประเทศ หรือนำเข้า กลายเป็นว่าผู้ผลิตคนไทยซึ่งเป็นผู้คิดค้นไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังถูกละเมิดลิขสิทธิ์ เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญจนทำให้หน่วยงานเริ่มขยับกับปัญหานี้มากขึ้น

ADVERTISMENT

⦁ขาดดุลไทย-จีนต่อเนื่อง20อุตฯกระทบ
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศไทย-จีน ย้อนหลังไปถึงปี 2563 ถึงปัจจุบัน พบไทยมีปัญหาขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 การส่งออกจากไทยไปจีนมีมูลค่าอยู่ที่ 9.26 แสนล้านบาท ส่วนนำเข้าจากจีนมาไทย 1.56 ล้านล้านบาท ขาดดุล 6.4 แสนล้านบาท ปี 2564 ส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท นำเข้า 2.12 ล้านล้านบาท ขาดดุล 9.54 แสนล้านบาท

ปี 2565 มูลค่าส่งออก 1.19 ล้านล้านบาท นำเข้า 2.4 ล้านล้านบาท ขาดดุล 1.29 ล้านล้านบาท ล่าสุดปี 2566 การส่งออกไปจีนมีมูลค่า 1.17 ล้านล้านบาท ส่วนการนำเข้าจากจีน 2.47 ล้านล้านบาททำให้ขาดดุลการค้าเกือบ 1.3 ล้านล้านบาท โดยภาวะการค้าไทย-จีน ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ที่ไทยขาดดุลมากขึ้นทุกปี และมากที่สุดในปี 2566 เลยทีเดียว

ช่วงปี 2566 รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เดิมมี 5-6 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก แต่ปี 2566 มีกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรมกำลังเดือดร้อนจากสินค้าจีนจำนวนมากเข้ามาตีตลาด โดยแบ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนตีตลาด อัตรานำเข้าสินค้าจากจีนขยายตัวมากกว่า 10% มีจำนวน 18 กลุ่ม

ประกอบด้วย 1.เครื่องจักรกลโลหการ 2.เครื่องจักรกลการเกษตร 3.ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 4.เฟอร์นิเจอร์ 5.เครื่องมือแพทย์ 6.เคมี 7.แก้วและกระจก 8.อาหารและเครื่องดื่ม (เนื้อสัตว์) 9.อัญมณีและเครื่องประดับ 10.เยื่อและกระดาษ 11.การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 12.ยานยนต์ 13.ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 14.ไม้อัด ไม้บาง 15.เซรามิก 16.หัตถกรรมสร้างสรรค์ 17.หล่อโหละ 18.เหล็ก และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนตีตลาด อัตรานำเข้าสินค้าจากจีนขยายตัว 5-10% มีอีก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.พลาสติก 2.ปิโตรเคมี

⦁‘เศรษฐา’สั่งแก้อากร-แวตนำเข้า
ตัวเลขขาดดุลที่เริ่มน่าห่วง กอปรกับเสียงสะท้อนเอกชน ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา พยายามหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อเร็วๆ นี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาดังกล่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์แอพพลิเคชั่นเอ็กซ์ (X)

ระบุโดยสรุปว่า “ผมได้รับเอกสารข้อเสนอคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เกี่ยวกับแนวทางการรับมือในเรื่องนี้แล้ว และได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลังนัดหารือร่วมกับอธิบดีกรมสรรพากรและอธิบดีกรมศุลกากรทันที อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ควรจะทำได้ คือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการในประเทศเสียเปรียบ สำหรับประเด็นอื่นๆ จะหารือในรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้สำเร็จต่อไปอีกครับ”

จากแอ๊กชั่นจากผู้นำประเทศ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือเรื่องนี้เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับสินค้านำเข้าที่ไม่เกิน 1,500 บาท

“ต้องขอบคุณนายเศรษฐา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่รับลูกเรื่องเร็ว คาดว่าอาจมีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลและ กกร.ในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง” ประธาน ส.อ.ท.ระบุ

⦁เอกชนพร้อมหารือปกป้องอุตฯไทย
ประธาน ส.อ.ท.ระบุอีกว่า ปัจจุบันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดสินค้าไทยมาจาก 3 ส่วนคือ 1.สินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มราคาไม่เกิน 1,500 บาท กลุ่มนี้นำเข้ามาเยอะมาก และปัจจุบันเจอปัญหาสำแดงราคาเท็จ จึงยิ่งกระทบต่อสินค้าไทย 2.สินค้าที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ไม่สามารถขายในตลาดปกติได้ อาทิ สหรัฐอเมริกา จึงหันมาส่งขายในอาเซียนแทน นอกจากนี้ ยังพบหลายสินค้ามีการปรับเปลี่ยนพิกัดเพื่อเลี่ยงภาษี อาทิ กลุ่มสินค้าเหล็ก ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข และ 3.สินค้าที่ตั้งใจสำแดงเท็จ อาทิ กรณีหมูเถื่อน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า

ส่วนประเด็นสำแดงเท็จ อยากให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการตรวจสอบ เพราะถือเป็นด่านแรกในการปกป้องผู้บริโภคและปกป้องสินค้าไทย ซึ่งจากการหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พบว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง แต่หากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาจำนวนมาก สมอ.ก็คงตรวจสอบไม่ไหว ดังนั้น ต้องให้กรมศุลกากรสกัดให้ได้ก่อนเข้าประเทศไทยจะเหมาะสมที่สุด เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับภัยความมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศ ซึ่ง ส.อ.ท.สะท้อนเรื่องนี้มานานแล้ว

ด้านกระทรวงการคลัง หลังจากได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เรียกกรมศุลกากรและกรมสรรพากรประชุมเพื่อทบทวนการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่มีการสั่งซื้อและส่งเข้ามาจากต่างประเทศ และการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% กรณีสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท

โดย ธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ระบุผลการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กรมศุลกากรและกรมสรรพากรได้รับคำสั่งการและแนวทางให้ร่วมกันทบทวนเรื่องกฎหมายดังกล่าว และระบบที่จะใช้จัดเก็บภาษี โดยกำหนดระยะเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2567-2568

“เรื่องการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น เป็นเรื่องของข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นมาตรฐานโลกให้อำนวยความสะดวกการส่งไปรษณีย์ส่วนบุคคลข้ามประเทศ คือเพื่อน หรือครอบครัวจะส่งของให้กันก็ส่งโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่ตอนนี้วิธีการค้าขายมันเปลี่ยนไป มีแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่ซื้อขายระหว่างบุคคลกับบุคคล เลยเข้ามาใช้ช่องนี้” อธิบดีกรมศุลกากรระบุ

⦁กรมศุลฯหาระบบช่วยเก็บภาษีแวต
อธิบดีกรมศุลกากรระบุอีกว่า ในต่างประเทศสินค้าที่นำเข้าในลักษณะส่งระหว่างบุคคลนั้นมีการยกเว้นอากรเหมือนกัน แต่ไม่ได้ยกเว้นภาษีแวต แต่ประเทศไทยกฎหมายได้ระบุให้ยกเว้นทั้งอากรขาเข้า และกฎหมายยังไปผูกให้ยกเว้นภาษีแวตด้วย ดังนั้น ต้องไปแก้ไขกฎหมาย ดูว่าควรจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าไหม ต้องพิจารณาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก แต่ผู้ประกอบการจากแพลตฟอร์มต่างประเทศกลับไม่ถูกเรียกเก็บภาษี

ส่วนวิธีการจัดเก็บภาษีนั้น กรมศุลกากรจะไปดูเรื่องของระบบและกฎหมายด้วยว่าทำอะไรได้บ้าง ส่วนเรื่องของสินค้านั้นไม่มีปัญหาเรื่องต้องเปิดทุกกล่องทุกพัสดุเพื่อตรวจสอบ เพราะสินค้าที่ส่งมาต้องมีใบขนสินค้า และสำแดงรายการติดหน้ากล่องอยู่แล้ว ขณะที่ในสนามบินมีเครื่องสแกนเอกซเรย์ ช่วยให้มองเห็นทุกอย่างภายใน เพราะปกติต้องตรวจเรื่องของผิดกฎหมาย อาทิ ยาเสพติดอยู่แล้ว

ส่วนการกำหนดราคาสินค้าที่ 1,500 บาทนั้น เป็นการปรับเพิ่มตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเริ่มแรกของกฎหมายกำหนดที่สินค้าราคาไม่เกิน 500 บาท และขยับมาที่สินค้าราคาไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งการทบทวนเรื่องเกณฑ์การกำหนดราคาสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีนั้น ถ้าถามว่า 1,500 บาท ยังเหมาะสมหรือไม่ ต้องดูตามระดับรายได้และเปรียบเทียบกับประเทศที่ระดับเดียวกันอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเรา ว่ากฎหมายกำหนดในระดับเดียวกันไหม

“สิ่งที่เอกชนเรียกนั้น คือเขาไปเข้าใจว่าเกณฑ์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีแวตไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นเพราะกฎหมายล็อกไว้ให้อยู่ด้วยกัน เพราะต่อให้จะปรับเกณฑ์การเว้นอากรลดไป 500 บาท หรือเพิ่มเพดาน 2,000 บาท แต่ถ้าไม่แก้กฎหมายก็ยังเก็บแวตไม่ได้อยู่ดี อย่างไรก็ดี เกณฑ์ราคา 1,500 บาทของไทย ถือว่าใกล้เคียงกับประเทศในอาเซียน” อธิบดีกรมศุลกากรระบุ

⦁เปิดเกณฑ์ราคาเว้นภาษีนำเข้าทั่วโลก
รายงานจากกรมศุลกากรระบุว่า สถิติข้อมูลสินค้าเร่งด่วนนำเข้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 1,500 บาท ในปีงบประมาณ 2564 มีปริมาณสินค้า 40.82 ล้านหีบห่อ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 9,840 ล้านบาท ปีงบ 2565 อยู่ที่ 47.05 ล้านหีบห่อ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 11,688 ล้านบาท และปีงบ 2566 อยู่ที่ 56.83 ล้านหีบห่อ คิดเป็นมูลค่า 17,972 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของไปรษณีย์มีการนำเข้าสินค้า ไม่เกิน 1,500 บาท ในปีงบ 2564 ที่ 4.09 ล้านหีบห่อ ปีงบ 2565 ที่ 2.91 ล้านหีบห่อ และปีงบ 2566 ที่ 2.11 ล้านหีบห่อ

สำหรับข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนั้นก็มีการใช้หลักเกณฑ์สำหรับการยกเว้นภาษีนำเข้าเช่นกัน โดยประเทศที่กำหนดเกณฑ์ใกล้เคียงไทย อาทิ กัมพูชา และเมียนมา กำหนดเพดานไม่เกิน 50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,788 บาท) และเวียดนาม กำหนดที่ไม่เกิน 40 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,431 บาท)ส่วนไทยคือ 47 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,500 บาท)

ขณะที่สิงคโปร์กำหนดเกณฑ์ที่ 298 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,662 บาท) และบรูไน อยู่ที่ 296 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,590 บาท) และทุกประเทศในอาเซียน ยกเว้นไทยและลาว (ไม่มีข้อมูลทางศุลกากร) ได้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ทุกประเทศ

ส่วนข้อมูลทางศุลกากรของประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศที่กำหนดเกณฑ์ยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สุด อาทิ อินโดนีเซีย กำหนดที่เพียง 3 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 107 บาท) อินเดีย 4 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 143 บาท) และประเทศจีนที่ 8 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 286 บาท) ขณะที่ประเทศที่กำหนดเกณฑ์ไว้สูงมาก เช่น คาซัคสถาน 580 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 20,751 บาท นิวซีแลนด์ 706 เหรียญสหรัฐ หรือ 25,259 บาท และสหรัฐอเมริกา 800 เหรียญสหรัฐ หรือ 28,623 บาท ซึ่งทุกประเทศดังกล่าวมีการเก็บภาษีแวต

ส่วนสหภาพยุโรป กำหนดที่ 174 เหรียญสหรัฐ หรือ 6,225 บาท และยกเว้นภาษีแวตของสินค้านำเข้าตามเกณฑ์ดังกล่าว เฉพาะสำหรับ 22 ประเทศสมาชิกเท่านั้น

จากกางเกงช้าง สู่งานช้าง การรื้อเกณฑ์ภาษีนำเข้าคงไม่ง่ายที่จะทำเสร็จในเร็ววัน แต่ต้องเดินหน้าจริงจัง

เพื่อไม่ให้สินค้าไทยแหลกลาญไปมากกว่านี้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image