เร่งสปีดเบิกจ่ายงบ’67 บัญชีกลางขันนอตจัดซื้อจัดจ้าง

ผลจากการยุบสภาเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ในปี 2566 จนได้รัฐบาล ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้เกิดช่วงเวลาสุญญากาศทางการเมือง ที่รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจในการลงมติในเรื่องใหญ่ๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงการที่ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จึงทำให้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปี 2567 ล่าช้า และใช้ไม่ทันในตอนเริ่มปีงบ 2567 หรือวันที่ 1 ตุลาคม 2566

สำหรับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 กำหนดรายจ่ายไว้ที่ 3.48 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้สุทธิ 2.787 ล้านล้านบาท เป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลที่ต้องกู้มาเสริมอีกปีหนึ่งของรัฐบาล โดยรัฐบาลกำหนดกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล รวม 6.93 แสนล้านบาท ซึ่งวงเงินขาดดุลจำนวนนี้คิดเป็น 19.91% ของงบประมาณรายจ่าย

ทั้งนี้ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมาเกือบตลอดช่วงดังกล่าว มีเพียงปี 2548 และปี 2549 เท่านั้น ที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

Advertisement

สำหรับปีที่รัฐบาลกู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงสุด อยู่ในปีงบประมาณ 2552 และปี 2565 ส่วนงบลงทุนที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ 2567 ที่ 7.17 แสนล้านบาท คิดเป็น 20.6% ของงบประมาณรายจ่าย

ปีที่มีการกำหนดงบลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายสูงสุด คือปี 2542 ซึ่งกำหนดไว้ถึง 28.3% และปีที่กำหนดงบลงทุนไว้ต่ำที่สุด คือปี 2553 กำหนดไว้เพียง 12.6%

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา ได้ผ่านวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 ล่าช้ากว่ากำหนดไปถึง 6 เดือน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่รัฐบาลยังสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายของปี 2566 ไปพลางก่อนได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ หมายความว่า รัฐบาลใช้กฎหมายงบประมาณของปี 2566 ในหมวดรายจ่ายประจำ ประเภทเงินเดือน และรวมถึงรายจ่ายลงทุนที่ได้มีการผูกพันไว้แล้วได้ แต่โครงการลงทุนใหม่ไม่สามารถใช้ได้

รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลาง ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวมอยู่ที่ 3.345 ล้านล้านบาท มียอดการเบิกจ่ายไปแล้ว 9.63 แสนล้านบาท หรือ 28.81% ของวงเงินรวม

จำนวนนี้ เป็นการเบิกจ่ายงบประจำได้จำนวน 8.6 แสนล้านบาท หรือ 34.08% ของงบประจำรวมที่ 2.52 ล้านล้านบาท งบลงทุนเบิกจ่ายได้ 5.1 หมื่นล้านบาท หรือ 7.69% ของงบลงทุนรวมที่ 6.64 แสนล้านบาท ส่วนงบกันเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 5.4 หมื่นล้านบาท หรือ 33.47% ของงบกันเหลื่อมปีรวมที่ 1.6 แสนล้านบาท

โดย กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแบ่งงานให้ดูแล หนึ่งในนั้นคือ กรมบัญชีกลาง ได้มีนโยบายสั่งการให้กรมบัญชีกลางศึกษาความเป็นไปได้ของการ ผ่อนปรนกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อหาทางเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีผลช้ากว่าปกติถึง 6 เดือน

กฎระเบียบข้อหนึ่งที่สั่งการให้กรมบัญชีกลางไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการแก้ไข คือ เรื่องของการอุทธรณ์งานประมูลภาครัฐ ซึ่งตามปกติเมื่อมีการประมูลงานภาครัฐ บางกรณีผู้ที่แพ้การประมูล อาจสามารถยื่นขออุทธรณ์ต่อกรมบัญชีกลางได้ หากกรณีที่โครงการประมูลนั้นๆ มีเรื่องการอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมบัญชีรับเรื่อง โครงการประมูลนั้น จำเป็นต้องหยุดขั้นตอนต่างๆ กล่าวคือ ไม่สามารถลงนามในสัญญาโครงการได้ ทำให้การลงทุนในโครงการนั้นต้องล่าช้าไปอีกหลายเดือน

“ให้ไปดูว่าหากเป็นกรณีคำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเดินหน้าขึ้นตอนการประมูลต่อไปหรือลงนามในสัญญาโครงการกับภาคเอกชนที่ชนะการประมูล โดยไม่จำเป็นต้องรอผล รวมถึงการดูบทกฎหมายที่คุ้มครองการดำเนินงานของหัวหน้าเจ้าของโครงการ ให้ไม่ต้องกังวลกับการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลังด้วย” รัฐมนตรีกฤษฎาระบุ

ด้าน แพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า การช่วยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้านั้น กรมบัญชีกลาง โดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ 1.การเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง โดยก่อนที่ พ.ร.บ.งบปี 2567 จะบังคับใช้ ให้หน่วยงานเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนไว้ก่อน อาทิ การกำหนดรายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะ คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ เงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้าง สัญญาที่จะลงนาม เป็นต้น

ขณะที่หน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ให้จัดทำจัดซื้อจัดจ้างประจำปีและประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศ ปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ ที่หน่วยงาน และให้รีบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ดำเนินการจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้ขายหรือผู้รับจ้างไว้ก่อนได้ เว้นแต่ขั้นตอนการลงนามในสัญญา

รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐกำหนดเงื่อนไขในเอกสารเชิญชวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ด้วยว่า การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้จะมีการลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือได้ต่อเมื่อ พ.ร.บ.งบปี 2567 มีผลใช้บังคับ และได้รับจัดสรรแล้ว และกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งดังกล่าว หน่วยงานของรัฐสามารถยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างได้

2.การลดระยะเวลาการดำเนินการ ได้แก่ การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่แค่ 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อหรือจ้าง หนึ่งครั้งซึ่งมีวงเงินเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้เผยแพร่ประกาศไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ โดยให้คำนึงถึงระยะเวลาในการให้ผู้ประกอบการเตรียมการจัดทำเอกสารเพื่อยื่นข้อเสนอ ส่วนการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท ให้เผยแพร่ประกาศวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ

ส่วนการจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศจ้างที่ปรึกษา และเผยแพร่ประกาศการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ

“ระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปสำหรับงบประมาณประจำปี 2567 ที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น” อธิบดีแพตริเซียทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image