ส.เอสเอ็มอี ขายไอเดีย ดิจิทัลวอลเล็ตภาคแรงงาน ดึงกระทรวงพาณิชย์ลดค่าครองชีพ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ได้นำเสนอและผลักดันโครงการ “Digital wallet ลดค่าครองชีพภาคแรงงาน” ผ่านกระทรวงพาณิชย์ ในการเชิญชวนภาคเอกชนทุกขนาดทั้งในท้องถิ่นและนอกพื้นที่ที่มีความพร้อมในการลดราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่มีจำนวนรวมกันกว่า 24 ล้านรายในระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานเพื่อความร่วมมือในการลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน ลดต้นทุนการประกอบอาชีพ และสร้างแรงจูงใจการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อเข้าถึงกลไกสวัสดิการและพัฒนาแรงงานเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มมูลค่ายกระดับทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถอย่างเป็นรูปธรรมในการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาสตามนโยบายของรัฐบาล โครงการนี้มุ่งสร้างสรรค์เศรษฐกิจแบ่งปันสนับสนุนการลดภาระช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการลดต้นทุนให้กับเอสเอ็มอีอีกทางด้วย
นายแสงชัย กล่าวว่า โดยเสนอแนวคิดลดภาระค่าครองชีพประชาชนและผู้ประกอบการอิสระ ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ม.33 ม.39 และ ม.40 ที่มีรวมกันประมาณ 24.5 ล้านคน ผ่านจัดทำโครงการให้ส่วนลดสูงสุดไม่เกิน 500 บาท และ 1,000 บาทต่อเดือน โดยในกลุ่มเหล่านี้มีสิทธิซื้อสินค้าในเครือข่ายธงฟ้าหรือจัดมหกรรมลดค่าครองชีพ ที่กระทรวงพาณิชย์ประสานผู้ผลิตและเกษตรกร นำสินค้ามาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าปกติที่ลดอยู่แล้วและให้สิทธิเฉพาะผู้มีสิทธิประกันตนเอง ซึ่งแนวคิดนี้ต้องบูรณาการกันหลายส่วนทั้งกระทรวงแรงงาน ในการกำหนดสิทธิให้กับผู้ได้รับสิทธิรับส่วนลดจากการซื้อสินค้า กับ กระทรวงพาณิชย์ ในการรวบรวมผู้ผลิตและช่องทางจำหน่าย เบื้องต้นกำหนดให้ดำเนินการได้ก่อนเข้าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
” อยากให้เป็นดิจิทัลวอลเลตภาคแรงงาน ในการซื้อสินค้าได้ราคาถูกลงกว่าปกติ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและซื้อไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาชีพ เช่น ขายอาหาร ขายเครื่องดื่ม ด้วยสามารถซื้อไข่ ข้าวถุง หรือ ปลากระป๋องในราคาถูกลงกว่าที่ลดอยู่แล้ว เป็นการเพิ่มเอ็กตร้าให้กับผู้ประกอบการตนที่สมัครใช้สิทธิโครงการนี้ แต่อาจกำหนดให้ได้รับส่วนลดจากซื้อไม่เกิน 500 หรือ 1000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ต้องกันซื้อเพื่อนำไปขายต่อ เรามองในหลายมิติ ผู้ซื้อได้ของราคาถูกลง ลดต้นทุนในการประกอบอาชีพอิสระ ผู้ขายก็ได้รายได้มากขึ้นและต่อเนื่อง เพราะอยากให้ทำต่อเนื่อง 6-10 เดือน รวมถึงรัฐช่วยเหลือผู้ผลิตด้วยมาตรการลดหย่อนด้านภาษี เป็นการกระตุ้นเข้าโครงการและให้ส่วนลดสูงๆ อีกประโยชน์ระยะกลางเป็นการจูงใจให้ผู้อยู่นอกระบบประกันตนได้เข้ามาในระบบ และระยะยาวเป็นการต่อยอดให้รัฐสนับสนุนการเพิ่มทักษะแรงงาน และฝึกอาชีพให้กลุ่มเปราะบางให้มีอาชีพยั่งยืน ไม่ต้องรองบประมาณช่วยจากภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นกรมการค้าภายใน เห็นด้วยในแนวคิด ” นายแสงชัย กล่าว
นายแสงชัย กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐ แต่เป็นการผนึกความร่วมมือกันของแต่ละฝ่าย เป็นการกระตุ้นระบบซื้อขาย ด้วยขณะนี้ค่อนข้างซบเซา กำลังซื้อในฐานรากน้อยมาก หากทำให้ประหยัดใช้จ่าย จะช่วยประคองใช้จ่ายและการค้าขายรายย่อยให้พยุงตัวอยู่ได้ หากโครงการนี้ได้รับความนิยมและเดินทางได้เร็ว อาจนำไปขยายกับภาคเกษตร ต่อไป
” สินค้าราคาถูก ทั้งจากจีนและมาตามชายแดน มีผลกระทบต่อรายย่อยมาก เดิมว่าค้าขายได้ลดลงแล้ว เจอสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศมาทุ่มตลาด ไม่แค่กางแกงสัตว์ เป็นสินค้าทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะเสื้อผ้า ของเบ็ดเตล็ด ซึ่งหากรอใช้มาตรฐานออกมาบังคับใช้ก็ต้องใช้เวลา ทำกันเองเพื่อให้ประคองรายได้และอาชีพในวันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ” นายแสงชัย กล่าว