พณ.หารือ 3 ฝ่าย เร่งตัดวงจรลูกหมูวันละ 8 พันตัว แก้ปัญหาล้นตลาดราคาตก

พณ.หารือ 3 ฝ่าย เร่งตัดวงจรลูกหมูวันละ 8 พันตัว แก้ปัญหาล้นตลาดราคาตก

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยสถานการณ์ราคาสินค้าว่า ขณะนี้ปริมาณสุกรมีชีวิตออกตลาดอยู่ที่ 5.8 หมื่นตัวต่อวัน ขณะที่ความต้องการบริโภคประมาณ 5 หมื่นตัวต่อวัน เพื่อลดความเดือดร้อนเกตรกรผู้เลี้ยงสุกรและล้นปริมาณสุกรล้นตลาด จึงได้หารือ 3 ฝ่ายคือ กรมการค้าภายใน กรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ออกแนวทางช่วยเหลือและลดปัญหา โดยผลักดันให้ผู้เลี้ยงลดปริมาณลูกสุกร และขอความร่วมมือห้างค้าปลีกงดการทำโปรโมชั่นลดราคาเนื้อหมู เพื่อไม่เป็นการกดดันราคารับซื้อหมูหน้าฟาร์ม นอกจากนี้ผลักดันโรงงานแปรรูปเพิ่มรับซื้อเพื่อแปรรูป รวมถึงรณรงค์บริโภคหมูหัน และประสานผู้ผลิตอาหารสัตว์ลดราคาสินค้าหากวัตถุดิบลง และชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือและลดต้นทุนเลี้ยงสุกร

“ขณะนี้ราคาหมูชำแหละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 67-68 บาทกิโลกรัม (กก.) ต่ำต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 71-72 บาทต่อ กก. ราคาเนื้อหมูชำแหละหน้าเขียงเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 130-131 บาทต่อ กก. เมื่อดูสถานการณ์สุกรแล้ว หากปล่อยไปเรื่อยๆ จะเป็นปัญหาที่สะสมเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้าหมูเจอโรคระบาดก็มีการเพิ่มปริมาณ ตอนนี้เจอเรื่องกำลังซื้อไม่ค่อยดีนัก จึงต้องผลักดันลดส่วนเกิน ซึ่งปกติผลิตและออกบริโภคที่ใกล้เคียงกันอยู่ที่ 5 หมื่นตัวต่อวัน ตอนนี้ผลิตออกสู่ตลาด 5.8 หมื่นตัว ก็ต้องลดปริมาณส่วนเกิน 8 พันตัวต่อวัน แต่อย่างไรก็ต้องดูถึงสภาพอากาศที่เริ่มร้อนขึ้นว่าจะมีผลต่อการเติบโตของสุกรแค่ไหนด้วย เพื่อไม่เกิดผลกระทบในอนาคตด้วย ซึ่ง 3 ฝ่าย ต้องหารือกันใกล้ชิดและออกมาตรการต่อเนื่อง“ นายวัฒนศักย์กล่าว

นายวัฒนศักย์ กล่าวต่อว่าสำหรับราคาสินค้าผัก เนื้อสัตว์ และสินค้าทั่วไป ราคายังเคลื่อนไหวไม่ผิดปกติ ยังเห็นการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งจากสำรวจห้างหรือตลาดสด พบว่า กำลังซื้อไม่ได้ดีมากนักในช่วงนี้ โดยสิ่งที่ต้องตามจากนี้คือความผันผวนของอากาศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากนี้
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ราคา และสถานการณ์วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ พบว่า แนวโน้มราคาปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง โดยขณะนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่ กก.ละ 10.26 บาท จากปีที่แล้วเฉลี่ยทั้งปี 12.67 บาท กากถั่วเหลือง เฉลี่ย ม.ค.-ก.พ.2567 กก.ละ 13.92 บาท จากปีที่แล้วเฉลี่ยทั้งปี กก.ละ 16.84 บาท ข้าวสาลี กก.ละ 7.74 บาท จากปีที่แล้ว เฉลี่ยทั้งปี กก.ละ 8.23 บาท ปลาป่น กก.ละ 32 บาท จากปีที่แล้วเฉลี่ยทั้งปี กก.ละ 36.61 บาท

Advertisement

“กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างใกล้ชิด และหากปรับลดลงต่อเนื่อง ก็จะคุยกับผู้ผลิตให้ปรับลดราคาลงมาให้สอดคล้องกัน ซึ่งเท่าที่ติดตามดู ข้าวโพดทรงตัว ข้าวสาลีลดลง กากถั่วเหลือง ลดลง และคาดว่าจะลดลงอีก เพราะอาร์เจนตินา เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ส่วนปลาป่น ทรงตัวอยู่สูง แต่ก็ถูกกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ตอนนี้ เทียบกับปีที่แล้ว พบว่า มีการทยอยปรับลดราคาลงมาแล้ว” ร.ต.จักรากล่าวและว่า เตรียมสานต่อโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในการลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์ จากการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้เลี้ยงกับโรงงานอาหารสัตว์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image