‘วีรพัฒน์’ลุยภารกิจ‘สนพ.’ ปรับโครงสร้างพลังงาน-คลอดแผนพลังงานชาติ

ในวงการพลังงานต่างจับตา แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) เพราะจะเป็นเข็มทิศกำหนดอนาคตพลังงาน ที่สำคัญยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

ภารกิจเหล่านี้มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ภายใต้การนำของ “วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” ผู้อำนวยการ สนพ. คนใหม่ และเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง

•แนวโน้มนโยบายพลังงานไทยในปัจจุบัน?

ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับประเทศไทยนั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 70% นั้นเป็นการปล่อยจากภาคพลังงาน ดังนั้นภาคพลังงานปัจจุบันต้องมีการเปลี่ยนแปลง อะไรที่จะเข้ามาช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานได้บ้าง ต่อมาคือ เทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เทคโนโลยีด้านพลังงานเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ จะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า การใช้พลังงานของประชาชนปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตอนนี้เราใช้แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ควบคุมการ เปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ เปิด-ปิดไฟฟ้า รวมทั้งดูค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนว่ามีเท่าไหร่ และบริหารค่าไฟฟ้าได้

Advertisement

นอกจากนี้เทคโนโลยีพลังงานได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับธุรกรรมโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ อาทิ ตอนนี้มีพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนผลิตไฟฟ้าเองได้ บริบทของเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงทิศทางด้านพลังงานของประเทศ สนพ.จึงต้องตามเรื่องนี้ใกล้ชิด เพื่อทำให้ไทยมุ่งสู่ทิศทางที่ต้องการ

•แผนงานหรือนโยบายสำคัญของสนพ.?

ภารกิจสำคัญของ สนพ. คือ แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) เป็นแผนระยะยาวที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งใจผลักดันให้เกิดให้ได้ในปีนี้ กำหนดไว้เดือนกันยายน 2567 แผนนี้จะเป็นตัวชี้นำว่าประเทศไทยจะไปทิศทางไหน ภายใต้แผนพลังงานชาติจะพูดถึง การบริหารจัดการการจัดหาไฟฟ้า รองรับกับความต้องการของประชาชน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีมาตรการให้ประชาชนประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายหรือมีการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่แค่ภาคไฟฟ้าอย่างเดียว ยังรวมถึงภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว อนาคตมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มากขึ้น

Advertisement

รวมทั้งแผนด้านน้ำมันจะเป็นอย่างไร นโยบายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศกำลังลดลง ต้องจัดหาเพิ่มไหม อย่างไร อาทิ การจัดหาก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) หรือจะนำเข้าในรูปแบบ LNG มากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นแผนระยะยาวทั้ง 5 แผน แผนพลังงานชาติเริ่มมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่สำเร็จเพราะมีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การเปลี่ยนรัฐบาล ดังนั้นปีนี้ต้องสำเร็จ

นอกจากนี้ สนพ.ยังมีภารกิจจัดทำโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังเร่งเดินหน้า ตั้งเป้าหมายเสร็จในปีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญในการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้น คือ การทำให้นโยบายพลังงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ต้องมองถึงชีวิตของคนในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงาน ทำให้ประชาชนยอมรับ เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม ประชาชนมีส่วนร่วม ยอมรับ ไม่ใช่เราคิดเองเออเอง

นอกจากนี้ สิ่งที่ท้าทาย คือ สนพ.ต้องก้าวให้ทันโลก ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องรู้ว่าตอนนี้มันมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ละประเทศมีแนวทางไปทางไหน โลกไปทางไหน เราเดินอยู่ในเส้นทางเดียวกับเขา หรือนอกเส้นทางของเขา แล้วนอกเส้นทางนี้โอเคไหม ต้องรีบกลับมาอยู่ในเส้นทางเดียวกับเขา แล้วเส้นทางที่เราเลือกเดินนั้นได้สร้างอะไรที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศ สิ่งที่สอง คือ ต้องเปิดกว้างและรู้จักพูดคุยคุยกับทุกองค์กร ซึ่งตัวผมเป็นคนที่ชอบคุยกับบุคคลหลายๆ กลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านพลังงาน ได้มุมมองใหม่ๆ คุยกับ นักวิชาการ ผู้บริหารทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้พลังงานที่เป็นประชาชนทั่วไป มุมมองเหล่านี้มีส่วนที่ทำให้เราทันต่อสถานการณ์ ปรับเปลี่ยนมาใช้ได้

•สนพ.ยุค‘วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู’?

สนพ.เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก แต่เป็นคนเล็กที่ทำงานใหญ่ คน สนพ.คิดเสมอว่า “เราต้องทำงานเพื่อประเทศ ทำงานเพื่อชาติ” ภาพของพลังงานเป็นเรื่องของพื้นฐานทั่วไป และมีผลกระทบต่อทุกคน เพราะพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกคน เพราะฉะนั้นเวลาเราทำนโยบายพลังงาน ต้องมองว่ามันกระทบทุกคน รวมไปถึงครอบครัวของเราด้วย ต้องทำด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และนึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ยุคของผมใน 4 ปีข้างหน้า สนพ. ในฐานะหน่วยงาน Think Tank ของกระทรวง อยากให้สิ่งที่ สนพ.คิดหรือนำเสนอเป็นนโยบายที่สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ผลักดันไปสู่การได้ปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทิศทางนโยบายพลังงานของประเทศจะต้องทันต่อสถานการณ์ จะต้องมีการติดตามที่เข้มข้น เพื่อดูว่านโยบายที่เรากำหนดไว้นั้นได้ผลลัพธ์ตามที่เราคาดหวังหรือไม่ อย่างไร และจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีอะไรที่จะต้องปรับปรุง แก้ไข ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ฉะนั้นในช่วง 4 ปีนี้จะเป็นช่วงที่ สนพ.ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่มุ่งสู่เป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ตั้งไว้เป็นสำคัญ ผ่านการติดตาม และการประเมินผลสำเร็จ

ปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน เราดู 3 ส่วน คือ 1.ประเทศไทยต้องมีความมั่นคงด้านพลังงาน พลังงานต้องเพียงพอ ไฟฟ้าห้ามดับ น้ำมันต้องมีเพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีปัญหาสงคราม หรือเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมหรือมีภัยธรรมชาติ แต่พลังงานต้องพร้อม มีสำรองไว้สำหรับให้ใช้ได้ตลอดเวลา 2.ราคาพลังงานที่เป็นธรรม ราคาพลังงานจะต้องมีความเหมาะสมเป็นธรรม สมดุลทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ไม่ใช่ประชาชนใช้ราคาถูกแต่ผู้ประกอบการแย่ หรือประชาชนใช้ของแพงแต่ผู้ประกอบการมีกำไรมากเกินไป 3.สิ่งแวดล้อมที่สะอาด ทิศทางของนโยบายพลังงานของประเทศได้ทบทวนและปรับปรุงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero emissions) ในปี 2065

ทั้ง 3 ส่วนเป็นปัจจัยหลักของกระทรวงพลังงานที่ใช้ในการวางแผนพลังงาน ประชาชนได้ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ประชาชนได้ “ราคาพลังงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม” และประชาชนได้ “พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนด้านพลังงาน และช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image