ยอดตั้งบริษัทใหม่ 2 เดือนเกิน 1.7 หมื่นราย อีคอมเมิร์ซ-ท่องเที่ยว-รถอีวี โดดเด่น

ยอดตั้งบริษัทใหม่ 2 เดือนเกิน 1.7 หมื่นราย อีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยว และรถอีวี โดดเด่น

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ 17,270 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 45,794.41 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.57% ทุนทะเบียนเพิ่มขึ้น 5,807.51 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 14.52% ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มจดทะเบียนจดทะเบียนจัดตั้งสูงในช่วงต้นปีและลดลงปลายปี

โดยเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 มีธุรกิจเติบโตที่น่าสนใจ ได้แก่ ธุรกิจ e-Commerce หรือ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต โดยมีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งสะสม 479 ราย อยู่ที่ 31.96% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 363 ราย อัตราการเติบโตของทุนจดทะเบียนจัดตั้งสะสมปีนี้ 555.06 ล้านบาท คิดเป็น 32.91% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก 100% จำแนกออกเป็นหมวด ดังนี้ หมวดของใช้อุปโภค บริโภคทั่วไป 355 ราย คิดเป็น 74.11% หมวดสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า แว่นตา) 54 ราย คิดเป็น 11.27% หมวดสินค้าความงามและของใช้ส่วนตัว 44 ราย คิดเป็น 9.19% หมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 14 ราย คิดเป็น 2.92% และหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และอาหารเสริม 12 ราย คิดเป็น 2.51%

ADVERTISMENT

นางอรมน กล่าวว่า การเติบโตของแต่ละประเภทธุรกิจ พบว่า มีการกระจายตัวในทุกประเภทธุรกิจ โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,378 ราย คิดเป็น 7.98% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,311 ราย คิดเป็น 7.58% และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 743 ราย คิดเป็น 4.30% ทำให้ยอดการจดทะเบียนรวม ของ 3 ธุรกิจในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 3,431 ราย ขณะที่ จำนวนการจดทะเบียนเลิก 2 เดือนแรก 2567 มียอดจดเบียนเลิกสะสม 1,898 ราย ลดลง 268 ราย คิดเป็น 12.37% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 6,361.29 ล้านบาท ลดลง 846.37 ล้านบาท คิดเป็น 11.74% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ปี 2567 พบว่าใน 2 เดือนแรก2567 มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น คิดเป็น 1.59% ซึ่งปี 2566 นั้นเป็นปีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งค่อนข้างสูง ด้วยเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวและเติบโตอย่างชัดเจนของภาคการท่องเที่ยว หลังจากการชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ชัดจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีการจัดตั้งเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เพื่อรองรับกับความต้องการในสินค้าและบริการของผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการเติบโตที่ดี ที่จะสนับสนุนยอดจดทะเบียนธุรกิจ

ADVERTISMENT

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดรับ Mega Trend ของรัฐบาล โดยนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างเข้าสู่ธุรกิจเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่ยังมีพื้นที่อีกมาก โดยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวเนื่องประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า 2. กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ3. กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ

นางอรมน กล่าวว่า กรมยังคาดการณ์ว่าตัวเลขการจัดตั้งในปี 2567 ยังคงมีทิศทางแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งอยู่ที่ 23,000 – 27,000 ราย และคาดว่าตัวเลขทั้งปี 2567 ขยายตัว 5-15% และมีการจัดตั้ง 98,000 ราย จะใกล้เคียงตามเป้าที่กรมเคยตั้งไว้ โดยเป็นผลจากแนวโน้มสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลก ที่สนับสนุนภาคธุรกิจไทยในหลายๆด้าน การบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัว

ภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว และโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega projects) ที่กลับมาเดินหน้าก่อสร้างโครงการอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าช้าและหยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึง นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Bio-Circular-Green Economy ( BCG Model ) ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้มีการเติบโต ตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยด้าน เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และหนี้ครัวเรือน เพื่อประเมินสถานการณ์ในระยะยาวต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image