แช่แข็ง 28 ปี ‘ที่ดินหมอชิต’ ปัดฝุ่นอีกกี่รอบ… ถึงได้ตอกเข็ม

ยังคงเป็นสตอรี่ที่ต้องติดตาม ท้ายที่สุดโครงการมิกซ์ยูส “หมอชิตคอมเพล็กซ์” เนื้อที่ 63 ไร่ เมกะโปรเจ็กต์ค้างฟ้าเกือบ 3 ทศวรรษ มูลค่า 26,916 ล้านบาท ที่ผ่านมือรัฐบาลมาหลายยุคสมัย จะเดินหน้าได้อย่างฉลุย จนปิดฉากมหากาพย์ได้สำเร็จหรือไม่ ในยุครัฐบาลเศรษฐา

ย้อนรอยเส้นทางของโครงการ ถูกจุดพลุโดยบริษัท ซันเอสเตท จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ BKT ที่ยื่นเสนอแผนการพัฒนาโครงการบนที่ราชพัสดุของ
กรมธนารักษ์ จนคว้าสัมปทาน 30 ปี และนำมาสู่การเซ็นสัญญาร่วมทุนกันเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539

ครั้งนั้นบริษัทมีแนวคิดพัฒนาที่ดินหมอชิตเก่าผืนนี้ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นทำเลมีศักยภาพ ได้รถไฟฟ้า 2 สาย 2 สี คือ สายสีเขียวบีทีเอส และสายสีน้ำเงิน MRT เป็นแม่เหล็ก จึงเกิดแนวคิดจะพัฒนาเป็นจุดศูนย์รวมการเดินทางหลายโหมด ทั้งการเป็นเซ็นเตอร์ระบบล้อ จุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางรถโดยสารประจำทางสายเหนือ อีสาน รวมถึงรถไฟฟ้า พร้อมสร้างตึกคอมเพล็กซ์ มีร้านอาหาร 520 ร้าน แบ่งตามเกรดเอ บี ซี และยังมีแหล่งช้อปปิ้ง พร้อมบริการจัดส่งถึงบ้าน รองรับคนที่มาใช้บริการรถโดยสารประจำทาง

ขณะเดียวกันจะสร้างทางเชื่อมกับถนนวิภาวดีและหมอชิตใหม่ ที่จะทำหน้าที่เป็นเซ็นเตอร์ระบบราง มีรถไฟความเร็วสูงรองรับการบริการ กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกรุงเทพฯ ของประเทศไทย ของอาเซียน และของเอเชีย

Advertisement

จากวันแรกเริ่มถึงวันนี้ ว่ากันว่าคอนเซ็ปต์โครงการยังคงเหมือนเดิม โดยที่ดิน 63 ไร่ ถูกพัฒนาเป็น 1 อาคาร แต่ออกแบบเป็นตึกคู่ สูง 36 ชั้น กับสูง 32 ชั้น พร้อมใต้ดิน 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 888,046 ตารางเมตร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ 776,046 ตารางเมตร

ภายในประกอบด้วย อาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถ ศูนย์ประชุมและสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ตามที่ได้ทำข้อตกลงกันไว้กับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ก่อนที่ บขส.จะย้ายออกไปชั่วคราวอยู่ที่จตุจักร โดยบริษัทกันพื้นที่ไว้ให้ 112,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการย้ายกลับมาหลังโครงการสร้างเสร็จ

Advertisement

ส่วน “สถานีขนส่งผู้โดยสาร” จะพัฒนาเป็น “สมาร์ทสเตชั่น” เป็นสถานีจอดรับและส่งผู้โดยสารรูปแบบใหม่ มีกำหนดเวลาเข้า-ออกสถานีของรถโดยสารตามตารางเวลา มีการแสดงข้อมูลรถโดยสาร ชานชาลาด้วยระบบสารสนเทศ และมีระบบตู้ขายตั๋วอัตโนมัติและออนไลน์

ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้ากระทรวงคมนาคม เปิดไอเดียใหม่ จะย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารของ บขส.ในปัจจุบัน และสถานีขนส่งภาคตะวันออกกรุงเทพฯ (เอกมัย) ไปรวมกันที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ โดยจะสร้างตึกสูง แบ่งการใช้พื้นที่ในแต่ละชั้น แต่ละภาคชัดเจน และจะไม่ย้ายกลับมาหมอชิต 1 ตามที่มีข้อตกลงกันไว้เมื่อ 28 ปีที่แล้ว

รายงานข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวว่า ขณะนี้กรมได้ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอความชัดเจนเรื่องการใช้พื้นที่ว่าสรุปจะกลับมาใช้พื้นที่ที่กันไว้ให้กว่า 1 แสนตารางเมตรหรือไม่ หลังกระทรวงคมนาคมมีนโยบายจะย้ายสถานีขนส่ง บขส.ไปรวมกับสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากถ้ามีข้อสรุปว่าไม่ย้ายกลับมา จะมีผลต่อการประมาณการด้านการจราจรโดยรอบ โดยเฉพาะการก่อสร้างทางเชื่อมยกระดับด้านถนนวิภาวดีรังสิตและดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่จะเชื่อมพื้นที่สถานีขนส่งในอาคารตามที่บริษัทได้ออกแบบไว้

“สถานะของโครงการในขณะนี้ ยังคงเดินหน้าตามขั้นตอนกฎหมาย ทางบริษัท BKT ผู้รับสัมปทานอยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบด้านการจราจรและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ที่ปรับแก้ไขใหม่ เพราะต้องทำการมีส่วนร่วมเพิ่ม ส่วนมูลค่าลงทุนของโครงการก็ยังเท่าเดิมอยู่ที่ 26,916 ล้านบาท โดยปรับขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท” รายงานข่าวกล่าว

พร้อมระบุว่า โครงการนี้ได้มีการเจรจากับเอกชนใหม่ภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 จนได้ข้อสรุปสุดท้าย ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 หลังจากเมื่อปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสถานะสัญญาว่ากรมธนารักษ์ยังต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องดำเนินโครงการใหม่ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ 2535

โดยเอกชนจะได้สัมปทานระยะเวลา 30 ปี ตามสัญญาสามารถต่อสัญญาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี จ่ายผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์ 550 ล้านบาท พร้อมค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างการก่อสร้าง และจ่ายค่าเช่า 5 ปีแรกอยู่ที่ 5.35 ล้านบาทต่อปี จากนั้นปรับขึ้น 15% ทุก 5 ปี ตลอดอายุสัญญา

ด้านรายงานข่าวจากบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด กล่าวว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าโครงการ และยังคงยืนยันว่าโครงการนี้มีความสำคัญและล่าช้ามา 28 ปีแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลปัจจุบันได้เห็นถึงความสำคัญ รวมถึงเร่งเดินหน้าโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมาด้วยหลายเงื่อนไข ทำให้โครงการยังไปไม่ได้ แต่สถานภาพของสัญญายังคงอยู่ครบสมบูรณ์ ขณะนี้สัญญายังไม่ได้เริ่มนับหนึ่ง เพราะสัญญาระบุว่าจะเริ่มนับหนึ่งต่อเมื่อโครงการเริ่มงานก่อสร้าง อีกทั้งมองว่าการแยกสถานีหมอชิตเป็น 2 แห่งนั้นมีความเหมาะสมแล้ว

ยังคงต้องลุ้น “โปรเจ็กต์เก่า” ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ จะถูกแช่แข็งหรือได้ไปต่อ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image