คิดเห็นแชร์ : ยะลา เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)

คิดเห็นแชร์ : ยะลา เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)

จากญี่ปุ่นใน 2 ครั้งก่อน คราวนี้จะขอแชร์เรื่องในประเทศบ้างครับ

เป็นข่าวไปเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า UNESCO ได้คัดเลือก 3 เมืองจากประเทศไทย ล่าสุด ให้ได้รับยกย่องเข้าร่วมเครือข่าย “เมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City” โดย 3 เมืองล่าสุดในปี 2567 คือ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ยะลา โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) รวมทั้งหมด 10 เมือง สำหรับ 7 เมืองก่อนหน้านี้ ได้แก่

เชียงราย ในปี พ.ศ.2562

Advertisement

เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต ในปี พ.ศ.2563

และหาดใหญ่ พะเยา สุโขทัย ในปี พ.ศ.2565

โดยมีเมืองที่เป็นเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ทั้งหมด 6 เมือง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต พะเยา หาดใหญ่ กรุงเทพมหานคร และยะลา โดยวันนี้ ผมขอเล่าเรื่องเมืองยะลา ที่ได้มีโอกาสต้อนรับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ลงไปเยี่ยมยะลาและแวะมาให้กำลังใจ TK Park-Yala (อุทยานการเรียนรู้ยะลา หรือ ที.เค.พาร์คยะลา เป็นอุทยานการเรียนรู้ระดับภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย) เมื่อสัก 2 สัปดาห์ที่แล้วนี้เอง และท่านนายกฯได้แวะทักทายนักเรียนในห้องการเรียนรู้ต่างๆ และได้ให้สัมภาษณ์ไว้น่าสนใจมาก ทั้งในเรื่องการเปิดพื้นที่เรียนรู้สาธารณะสําหรับเยาวชน และประชาชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน แลกเปลี่ยนนวัตกรรมหลากหลาย และร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการส่งเสริมให้ TK Park Yala เป็นสถานที่ Play and Pleun คือได้มาสนุกกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนครับ

Advertisement

ดังนั้น การที่ยะลาได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ จาก UNESCO ในคราวนี้ถือว่าสมศักดิ์ศรียิ่ง โดยจังหวัดยะลาได้กำหนดกลยุทธ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตไว้ใน 4 ระดับ ได้แก่ การสำรวจความต้องการ การวางแผน การมอบหมายบุคลากรหลัก และการติดตามผล ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการเมืองแห่งการเรียนรู้ยะลา โดยแผนด้านการเรียนรู้ในระยะสั้นมีจุดมุ่งเน้น คือ การทำความเข้าใจกับความต้องการการเรียนรู้ที่หลากหลายของทุกชุมชน และสร้างพื้นที่การเรียนรู้สีเขียวที่เข้าถึงได้โดยใช้ทรัพยากรของเทศบาล เช่น รถโรงเรียนและรถรางเมือง ส่วนเป้าหมายระยะยาว ได้แก่ การเปลี่ยนยะลาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อัจฉริยะ โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ภายใต้กรอบ GNLC ของ UNESCO ยะลา ยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การไม่แบ่งแยก และแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมืองยะลาได้บูรณาการด้านความยั่งยืนและสุขภาวะเข้ากับกลยุทธ์การเรียนรู้โดยผสานระหว่าง SDG ข้อ 3 และ SDG ข้อ 17 ให้เข้ากับนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยได้พัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อการเรียนรู้ มีสโมสรสุขภาพที่เปิดให้ทุกคนได้เข้ามาใช้บริการ มีการติดตามผลลัพธ์ด้านสุขภาพ และสร้างพื้นที่สีเขียว เช่น สวนขวัญเมือง เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน นอกจากนั้นเมืองยะลามุ่งเน้นความเท่าเทียมและความครอบคลุม โดยการจัดลำดับความสำคัญของชุมชน เมืองยะลาได้ร่วมกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยใช้กรอบการทำงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อ 4 ข้อ 10 และข้อ 17 เพื่อจัดการกับความล้มเหลวทางการเรียนรู้จากโควิด-19 กลยุทธ์ต่างๆ ได้แก่ การปฐมพยาบาล พื้นที่การเรียนรู้สีเขียว และทุนการศึกษา โดยมุ่งเป้าไปที่การเชื่อมช่องว่างทางการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ

สำหรับยุทธศาสตร์ของจังหวัดยะลาในการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าและการเป็นผู้ประกอบการนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อ 8 ข้อ 10 และข้อ 11 โดยเมืองยะลาอำนวยความสะดวกให้กับนโยบายต่างๆ เช่น เทศกาลแฟชั่นผ้ามลายู (Pakaian Melayu Yala Fashion Week) เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับแรงงานในท้องถิ่นและเยาวชนในพื้นที่ โครงการเหล่านี้ยังสอนทักษะด้านต่างๆ อีก เช่น การออกแบบแฟชั่นที่ยั่งยืน เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ในช่วงที่ยากลำบาก เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 นอกจากนี้ โครงการเมืองยะลายังสนับสนุนกิจกรรมของผู้ประกอบการที่ช่วยลดขยะอีกด้วย

โครงการที่น่าสนใจและแนวปฏิบัติที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จ ได้แก่

1.โครงการห้องสมุดมนุษย์ (Human Library) โครงการห้องสมุดมนุษย์จะมีการประชุมสภากาแฟทุกเดือนและมีการตรวจสุขภาพสำหรับผู้เรียน โดยเป็นเวทีสำหรับการสนทนาระหว่างกลุ่มทางสังคมที่หลากหลาย ซึ่งมีส่วนช่วยในการประเมินความต้องการการเรียนรู้ในท้องถิ่น โครงการเน้นรูปแบบการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดในสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน และยังส่งผลให้ผู้เรียนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง ทั้งยังส่งเสริมการแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่การเรียนรู้สีเขียว

2.สัปดาห์การออกแบบมลายู (Pakaian Melayu Design Week) โครงการนี้เน้นการเรียนรู้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดชีวิตซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มทางสังคม มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเสื้อผ้า และผ้า/สิ่งทอ ด้วยการผสมผสานวัสดุเหลือใช้และวัสดุมือสองเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ โครงการนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความยั่งยืนด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังสร้างโอกาสที่ดีในการทำงานอีกด้วย

3.วงดุริยางค์เยาวชนยะลา โครงการวงดุริยางค์เยาวชนยะลา ก่อตั้งเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ริเริ่มโดยกองทุนเทศบาล เพื่อสนับสนุนเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจในการศึกษาดนตรีระดับมหาวิทยาลัย โดยให้บริการการศึกษาด้านดนตรีแก่เยาวชนและครอบครัวแก่ทุกคนในจังหวัดยะลา ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรที่สำคัญ เช่น โรงเรียนดนตรีในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย

สำหรับบทบาทของ TK Park จะช่วยในเรื่องการสนับสนุนการดำเนินงาน เมืองแห่งการเรียนรู้ รวมถึงการช่วยจัดทำและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ ให้แก่เครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ การสนับสนุนเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก GNLC (UNESCO Global Network of Learning Cities : GNLC) โดยการให้คำปรึกษาและแนวทางในการจัดทำใบสมัคร และการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยการจัดกระบวนการ Co-Creation เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนฯ รวมถึงการจัดทำสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่น ร่วมกับเทศบาล เด็กและเยาวชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และนักสื่อสาร เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของเมือง ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอัตลักษณ์เมือง โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีบทบาทเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราว พร้อมจัดพิมพ์ต้นฉบับและเผยแพร่ให้แก่ทุกภาคส่วนและผู้ที่สนใจ

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน อาทิ การจัดกิจกรรมและการสัมมนาเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ นิทาน “เล่าเรื่องเมือง” และออกแบบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ และกลุ่มมานีมานะ และโครงการบ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคมโดยเยาวชนในท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมืองใด จังหวัดใด สนใจที่จะก้าวสู่การเป็น เมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปีต่อๆ ไป ติดต่อทาง TK Park ใกล้ท่านได้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image