สบน. ชี้การบริหารหนี้สาธารณะไทยหลังกู้โควิดยังอยู่ในระดับจัดการได้

สบน. ชี้การบริหารหนี้สาธารณะไทยหลังกู้โควิดยังอยู่ในระดับจัดการได้ วอนสำนักงบจัดสรรงบชำระหนี้เพิ่ม

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องขยายกรอบการก่อหนี้จากไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ล่าสุด ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่กว่า 62% ต่อจีดีพี แต่ในด้านความเสี่ยงการบริหารหนี้นั้น ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และอยู่ในกรอบวินัยด้านการคลัง

นางจินดารัตน์ กล่าวว่า โดยกรอบวินัยการคลังกำหนดว่า ภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ จะต้องอยู่ในระดับน้อยกว่าหรือเท่ากับ 35% ซึ่ง ณ กันยายน 2566 อยู่ที่ 26% ส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดต้องอยู่ในระดับต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10% ณ กันยายน 2566 อยู่ที่ 1.4% และภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริหารต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5% ณ กันยายน 2566 อยู่ที่ 0.05%

นางจินดารัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ หนี้สาธารณะโดยรวมจำนวน 11.19 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ระยะยาวถึง 85% อายุหนี้คงเหลือเฉลี่ยที่ 8 ปี 11 เดือน ซึ่งอยู่ในกรอบมาตรฐานที่กลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่กำหนดระยะเวลาเฉลี่ยของหนี้ต้องอยู่ที่ประมาณ 8 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ขณะเดียวกัน หนี้ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศนั้น ก็มีสัดส่วนเพียง 1.35% ของหนี้สาธารณะไทยทั้งหมด หรือประมาณ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนใหญ่เป็นหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

Advertisement

เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เป็นต้น โดยกู้มาเพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและมีระยะเวลาการกู้ที่ยาว 15-20 ปี ช่วยลดความเสี่ยงการบริหารหนี้ได้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยของหนี้นั้น ปัจจุบันเรามีอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ที่ 85% ของหนี้ทั้งหมด ขณะที่ ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7%

นางจินดารัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ระดับหนี้สาธารณะของไทยนั้น แม้ว่า จะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่หากว่า จีดีพีของประเทศเติบโตในระดับต่ำ ก็มีแนวโน้มที่ระดับหนี้สาธารณะจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)ได้ประกาศปรับลดจีดีพีในปี 2566 ลงเหลือ 1.9% และ ปี 2567 นี้ 2.7% ก็จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้น โดยสบน.อยู่ระหว่างการปรับตัวเลขหนี้สาธารณะในเดือนกุมภาพันธ์นี้

นางจินดารัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ นับจากปี 2548 หนี้สาธารณะของไทยเคยอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 34.95% ต่อจีดีพี จากนั้น ก็ทยอยปรับเพิ่มเฉลี่ยที่ 41-42% นับจากปี 2555-2562 และทยอยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 49% ในปี 2563 และสูงสุดที่ 62.44% ในปี 2566 ล่าสุด ณ มกราคม 2567 อยู่ที่ 62.23% ต่อจีดีพี ขณะที่ ปัจจุบัน สบน.ได้รับงบประมาณในการชำระหนี้ต้นเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 3.4% จากกรอบ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลังที่กำหนด 2.5-4% ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี แต่ในจำนวนนี้ รัฐบาลได้รับงบชำระหนี้น้อยกว่างบชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ขณะที่ มูลหนี้ของรัฐบาลมีจำนวนที่สูงกว่า ทำให้การลดหนี้ต้นเงินกู้ของรัฐบาลล่าช้า

Advertisement

“ปัจจุบันหนี้สาธารณะดังกล่าว แบ่งเป็น หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 82.33% หนี้รัฐวิสาหกิจ 9.61% หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) 5.55% หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ(รัฐบาลค้ำประกัน) หน่วยงานรัฐ 0.73% ทั้งนี้ หนี้ดังกล่าว เป็นภาระต่องบประมาณมีอยู่ 52.21% ต่อจีดีพี หรือ 9.39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.89% ของหนี้สาธารณะ สำหรับหนี้เอฟไอดีเอฟ ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 6.2 แสนล้านบาท ลดลงจากหนี้เดิมราว 50% คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะชำระหมดภายใน 10 ปี”นางจินดารัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image