แบงก์ชาติ ลุยแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน ลั่นลดดอกหนี้ก็พุ่ง แนะต้องเพิ่มรายได้

แบงก์ชาติ ลุยแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน ชี้ลดดอกหนี้ก็ไม่ลด แนะต้องเพิ่มรายได้ ลั่นหนี้แก้ด้วยหนี้ไม่ได้   

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในรายการกรุงเทพธุรกิจ BIZ INSIGHT ถึงกรณีหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 สูงถึง 90.9% ต่อจีดีพี ว่า ธปท. มองว่าเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาระดับประเทศ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดปัญหาปัญหาเพราะปัญหานี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ส่วนที่เศรษฐกิจไทยได้ผ่านช่วงโควิด ทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเขยิบขึ้นมาค่อนข้างสูง ทั้งในเรื่องของมูลค่าหนี้อยู่ที่ 16.20 ล้านล้านบาท และมีเรื่องของจีดีพีที่ปรับลดลง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะเห็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก

“สิ่งที่เกิดขึ้นที่ต้องมองคือหนี้ใช้เวลานานมากในการไต่ระดับขึ้นมา แต่จะดีดนิ้วและหายไปเลยอาจทำไม่ได้และต้องค่อยๆ แก้ และถ้าจะให้หายไปเลยด้วยการลดหนี้หรือตัดหนี้ลงไป เจ้าหนี้อาจระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อในอนาคต ดังนั้น ต้องดูแลสมดุลระหว่างการช่วยเหลือลูกหนี้และการดูแลเจ้าหนี้ด้วย”น.ส.ชญาวดีกล่าว

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือ ธปท. อยากจะแก้หนี้อย่างยั่งยืน ส่วนที่เป็นการพักหนี้ หรือผลักภาระหนี้ไปในอนาคตยอมรับว่าเคยใช้ได้ในช่วงที่มองว่ารายได้จะยังไม่กลับมา แต่ในปัจจุบันรายได้บางส่วนถึงแม้ว่ายอมรับว่าช้าแต่ก็ทยอยกลับมาแล้ว ดังนั้น มาตรการที่ทำจะต้องสามารถช่วยในการแก้หนี้ได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

ทั้งนี้ ธปท.มีมาตรการที่ออกหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) พยายามแก้หนี้ให้ตรงจุด โดยลูกหนี้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ การให้ข้อมูล การตัดสินใจในการปรับสร้างหนี้ หรือลูกหนี้ที่มีหนี้เรื้อรัง โดยลูกหนี้มีการชำระดอกมากกว่าเงินต้นมาเกิน 5 ปี ทาง ธปท.จะมีมาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567 ให้การช่วยเหลือลูกหนี้

“สำหรับเรื่องระยะยาวสิ่งที่ต้องทำคือ การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการเงิน ทั้งในแง่รายรับ และรายจ่าย ต้องบอกว่าปัญหาหนี้ในปัจจุบันไม่ใช่เป็นเรื่องของหนี้อย่างเดียว ต้องมองย้อนกลับไปว่าทำไมถึงเป็นปัญหาหนี้ แต่มันคือเรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอ เรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของทุกคนในทุกฝ่ายจะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า และคนมีรายได้มากขึ้น ที่สำคัญหนี้แก้ด้วยหนี้ไม่ได้ แล้วคงจะต้องแก้ด้วยรายได้และต้องแก้จากหลายภาคส่วนด้วยกัน”น.ส.ชญาวดีกล่าว

•ย้ำลดดอกเบี้ยหนี้จะพุ่ง
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วหนี้ครัวเรือจะลดลงหรือไม่นั้น มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เพราะมีการกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ก็จะเป็นจุดที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้นทุนในการกู้น้อยลง ก็อาจจะทำให้กู้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพแต่อาจจะไม่ต้องการกู้หนี้ เพราะฉะนั้นมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยทั่วไปเป็นสิ่งที่กระทบทุกคน ถ้าจะปรับอัตราดอกเบี้ยต้องมองว่ามีผลดีและผลเสียอย่างไร

Advertisement

ถ้าปรับดอกเบี้ยลงช่วงนี้หลายคนอาจจะบอกว่าภาระหนี้ลดลง แต่ก็มีกลุ่มที่เป็นผู้ฝากเงิน ผู้ออมเงิน ผู้นำเงินไปวางไว้ในสินทรัพย์บางอย่างที่ผูกไว้กับอัตราดอกเบี้ยแล้วได้ผลตอบแทนก็จะได้รับรายรับลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้น มีทั้งผลดี ผลเสียที่ต้องช่างน้ำหนัก และผลจากอัตราดอกเบี้ยต้องมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“ผลดีในระยะสั้นอาจจะมีเรื่องภาระหนี้อาจจะลดลง แต่ในกลุ่มนั้นมีประมาณ 60% ของลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยจะจ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยเป็นอัตราคงที่ (fixed rate) หรือบางคนมีการชำระหนี้เป็นงวดแบบคงที่อยู่แล้ว กลุ่มนี้อาจจะยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ ขณะเดียวกัน คนที่อาจจะได้รับผลกระทบ ธปท.มีมาตรการมารองรับ เนื่องจากดอกเบี้ยส่งผลกระทบวงกว้าง จึงต้องมีมาตรการออกมาควบคู่เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ”น.ส.ชญาวดี กล่าว

•ยันแบงก์ปล่อยกู้ปกติ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า จากความกังวลที่หลังจากมีหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ส่งผลให้สถาบันการเงินอาจจะปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นนั้น เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลมากกว่าและเป็นเรื่องของสิทธิของลูกหนี้ ชื่ออาจจะเป็นเรื่องของการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม แต่ธีม ของมาตรการนี้คือการดูแลให้ลูกหนี้ได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องได้รับในเรื่องของบริการทางการเงินอย่างเต็มสิทธิของลูกหนี้

โดยก้อนแรกของมาตรการนี้ เช่น ลูกหนี้จะต้องได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องให้การช่วยเหลือก่อน และถ้าเป็นหนี้เสียแล้วก็ต้องได้รับการช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถปล่อยประละเลยลูกหนี้ ให้เกิดหนี้เสียและถูกขายทอดตลาดไปโดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไข

ก้อนที่ 2 ลุงหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังต้องได้รับสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ โดยที่เจ้าหนี้ต้องแจ้งว่าลูกหนี้เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง และสนใจแก้หนี้เรื้อรังหรือไม่ มาตรการนี้จะสามารถปิดจบและแก้ไขเรื้อรังได้ในเวลาที่สั้นลงและได้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

และก้อนที่ 3 ธปท. จะเข้าไปดูในเรื่องของข้อมูลการโฆษณาของเจ้าหนี้ต้องเป็นไปอย่างรับผิดชอบ ต้องไม่กระกระตุ้นให้ลูกหนี้ก่อหนี้ หรือลูกหนี้เข้ามาขอสินเชื่อข้อมูลที่ได้รับต้องครบถ้วนสมบูรณ์ในการตัดสินใจเป็นหนี้หรือไม่

“ดังนั้น ไม่มีอะไรที่บอกว่าลูกหนี้จะเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยลง แต่ว่าเจ้าหนี้ต้องคอยดูว่าลูกหนี้สามารถจะดูแลตัวเองไปตลอดรอดฝั่งและไม่เป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์จากมาตรการนี้ที่ ธปท.อยากจะเห็น“น.ส.ชญาวดี กล่าว

•คงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ 8%
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า กรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เรียกร้องให้ ธปท. ลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตลงเหลือ 5% จากที่ได้ปรับขึ้นเป็น 8% ในปี 2567 นั้น ธปท. ได้ชี้แจงไปแล้วในเรื่องของการทยอยปรับขั้นต่ำขึ้น เพราะในสมัยก่อนการจ่ายชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตอยู่ที่ 10% และมีการปรับลดอัตราดังกล่าวลงเป็นช่วงโควิดที่ประชาชนขาดรายได้ จึงมีการลดหย่อนให้สามารถผ่อนได้น้อยลง

แต่ขณะนี้รายได้ทยอยกลับเข้ามาแล้ว แม้เศรษฐกิจจะยังไม่กลับมาได้ดีแต่เครื่องชี้ เช่น ด้านรายได้ การจ้างงานกลับมาดีกว่าช่วงโควิดแล้ว ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่เคยผ่อนคลายไปมากๆ ก็จะค่อยๆ ทยอยกลับมา เพื่อให้ภาวะกลับเข้าสู่ปกติ

“การมีอัตราชำระหนี้ต่ำ คนที่จะรู้สึกได้ประโยชน์จากที่มีอัตราการชำระขั้นต่ำในระดับต่ำคือเจ้าหนี้ เพราะถ้าลูกหนี้ผ่อนไปเรื่อยเรื่อยและคนที่ได้ประโยชน์จากลูกหนี้ก็คือเจ้าหนี้ และลูกหนี้จะใช้เวลาที่นานขึ้น ในการปิดจบหนี้ก้อนนี้และทำให้เป็นภาระจนไม่สามารถขอสินเชื่อทางอื่นได้”น.ส.ชญาวดี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image