ภัยไซเบอร์ทุบ ศก.6 หมื่นล้าน รัฐบาลดึงเอกชนเอาจริง ตัดวงจรขั้นเด็ดขาด!!

ภัยไซเบอร์ทุบ ศก.6 หมื่นล้าน รัฐบาลดึงเอกชนเอาจริง ตัดวงจรขั้นเด็ดขาด!!

เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทมากต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นอวัยวะลำดับ 33 ที่ขาดไม่ได้ซะแล้ว

ในขณะที่สังคมกำลังถูกดิสรัปชั่นด้วยโลกออนไลน์เกือบจะ 100% แม้ผลด้านบวกของเทคโนโลยีจะเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ในทางกลับกันก็ส่งผลลบเช่นกัน เพราะมีมิจฉาชีพเกิดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ด และคอยแสวงหาผลประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ

ดังนั้น อาชญากรรมร้ายในสังคมไทยที่ประชาชนใกล้ชิดที่สุดจึงเป็น “ภัยไซเบอร์” จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแล้ว ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน และร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียชีวิต

สะท้อนจากสถิติที่ประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านออนไลน์ www.ThaiPoliceOnline.com นับตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565-29 กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนคดีกว่า 477,423 คดี และความเสียหายสูงกว่า 60,550 ล้านบาท

Advertisement

แบ่งเป็น สถิติอายัดบัญชี จำนวนขออายัด 170,653 กรณี 279,701 บัญชี ยอดเงิน 19,382 ล้านบาท และอายัดได้ทัน 4,758 ล้านบาท

ประเภทความเสียหาย 5 อันดับแรกที่ประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงมากที่สุด ได้แก่ 1.คดีหลอกซื้อขายสินค้าและบริการ จำนวน 188,075 เรื่อง คิดเป็น 42.11% ความเสียหาย 2,682 ล้านบาท 2.หลอกทำงานหารายได้ จำนวน 57,463 เรื่อง คิดเป็น 12.87% ความเสียหาย 7,205 ล้านบาท

3.หลอกให้กู้เงิน จำนวน 48,743 เรื่อง คิดเป็น 10.91% ความเสียหาย 2,220 ล้านบาท 4.หลอกลงทุน จำนวน 37,571 เรื่อง คิดเป็น 8.41% ความเสียหาย 20,577 ล้านบาท และ 5.คดีคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 30,447 เรื่อง คิดเป็น 6.82% ความเสียหาย 7,684 ล้านบาท

Advertisement

ขณะเดียวกัน ความเสียหายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถิติแจ้งความออนไลน์ โดยระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2567 มีจำนวนคดี 26,398 เรื่อง ความเสียหายมูลค่า 4,198 ล้านบาท

เพื่อให้เท่าทันภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้น หน้าที่ในการป้องกัน ควบคุม รวมถึงดูแลให้ประชาชนปลอดภัยจากโจรไซเบอร์ บทบาทเหล่านี้เป็นของภาครัฐบาล และหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการรู้เท่าทันของประชาชนเอง เพื่อลดปัญหาสูญเสียให้มากที่สุด!

⦁ดีอีจัดมาตรการมัดผีไซเบอร์

ฉายภาพการดำเนินงานของรัฐบาล โดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เดินหน้าแนวทางการป้องกันภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงดีอี ภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งดีอีร่วมประชุมกับกรรมการจากหน่วยงาน

อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สมาคมธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น

รัฐมนตรีประเสริฐให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมได้หารือและพิจารณาเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.การจัดการซิมการ์ดเถื่อน (ซิมม้า) ดำเนินมาตรการที่สำคัญ และมีผลดังนี้ สำนักงาน กสทช.ระงับซิมที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้งต่อวัน ตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 และให้มายืนยันตัวตน จำนวน 29,446 ซิม โดยมีผู้มายืนยันตัวตน265 หมายเลข

นอกจากนี้ กำหนดการยืนยันตัวตนของผู้มีซิมเกิน 100 หมายเลข ที่ครบกำหนดยืนยันตัวตนหรือลงทะเบียนให้ถูกต้อง ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มีซิมเข้าข่ายจำนวน 5.07 ล้านหมายเลข มีผู้ไม่มายืนยันตัวตน 2.5 ล้านหมายเลข จะถูกระงับการให้บริการ

2.การจัดการบัญชีม้า ดำเนินมาตรการที่สำคัญ คือ ดีอีจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (ศูนย์ AOC 1441) อายัดบัญชีให้ผู้เสียหาย 1 พฤศจิกายน 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 57,861 บัญชี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จับกุมผู้ขายบัญชีม้า 51 ราย พร้อมสมุดบัญชีธนาคาร 1,113 บัญชี และการจัดทำมาตรการป้องกันไม่ให้การเปิดบัญชีใหม่และนำไปใช้เป็นบัญชีม้า ซึ่ง ธปท.และสำนักงาน ปปง. รับไปหารือต่อเนื่อง

3.การเร่งรัดอายัดเงินบัญชีม้า ข้อมูลตำรวจไซเบอร์ 1 พฤศจิกายน 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 ขออายัดบัญชีม้า วงเงิน 7,097.2 ล้านบาทอายัดได้ทัน 3,334.1 ล้านบาท คิดเป็น 47.0% เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับก่อนมีศูนย์ 1441 ที่อายัดได้ทัน 11% ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565-30 กันยายน 2566 อายัดทัน 1,316 ล้านบาท จากการขออายัด 11,252 ล้านบาท

ทั้งนี้ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.การเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหาย ปัจจุบันยังมีขั้นตอนที่มากและใช้เวลานาน ในการคืนเงินให้ผู้เสียหาย เพื่อให้การคืนเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขอให้อนุกรรมการด้านกฎหมายเสนอแนวทาง รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

5.การปิดกั้นเว็บเพจในสื่อออนไลน์ผิดกฎหมาย โดยในปีงบประมาณ 2567 เวลา 5 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567 ปิดกั้น 57,056 url/รายการ เพิ่มขึ้น 12.8 เท่า จากปีงบประมาณ 2566 ระหว่างเดือนตุลาคม 2565-กุมภาพันธ์ 2566 ปิดกั้น 4,449 urs/รายการ

และในปีงบประมาณ 2567 เวลา 5 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567 ปิดกั้นเว็บพนัน 24,352 url เพิ่มขึ้น 37.6 เท่าจากปีงบประมาณ 2566 ระหว่างเดือนตุลาคม 2565-กุมภาพันธ์ 2566 ปิดกั้น 648 urs/รายการ

รัฐมนตรีประเสริฐระบุว่า สำหรับเรื่องสำคัญของการประชุมคือการติดตามการปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า และเร่งรัดการอายัดเงินรวมทั้งการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ศูนย์ 1441 ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ได้ช่วยอายัดเงินให้ผู้เสียหายได้มาก ระยะ 4 เดือนนี้ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566-กุมภาพันธ์ 2567 อายัดทัน 47% และในบางเดือน อาทิ มกราคม 2567 อายัดได้ทันถึง 57%

“การคืนเงินให้ผู้เสียหาย แม้คืนเงินไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่รวดเร็ว จึงได้สั่งการและกำชับให้ปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานให้สามารถทำงานร่วมกัน และป้องกันทรัพย์สินประชาชนก่อนจะถูกมิจฉาชีพขโมยไปได้” รัฐมนตรีประเสริฐระบุ

⦁กำชับใช้PDPAอุดข้อมูลรั่ว

ขณะที่ ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ระบุว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันเห็นความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ ออก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 โทษแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1.โทษทางอาญา จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.โทษทางแพ่ง ค่าสินไหมทดแทน และค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่า และ 3.โทษทางปกครอง ปรับไม่เกิน 1, 3 และ 5 ล้านบาท

อีกทั้งมอบนโยบายให้ สคส.กำกับดูแลแบบเชิงรุก คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบเชิงรุก หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA โดยให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC Eagle Eye) ตรวจสอบเฝ้าระวัง หากพบหน่วยงานทั้งภาครัฐบาล เอกชน เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไม่เหมาะสม หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA สำนักงานจะแจ้งเตือนให้แก้ไข หรือลงโทษทางปกครองต่อไป

“การบังคับใช้กฎหมายจะต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ทั้งรัฐบาลและเอกชน รวมถึงประชาชน ให้ตระหนักรู้ในการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA ระยะต่อไป สคส.จะร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร เพื่อกำกับดูแล ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความรู้ ความตระหนัก ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในภาคส่วนต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล” เลขาฯศิวรักษ์ระบุ

⦁กสทช.ตัดต้นตอซิมผี-เสาไฟเถื่อน

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยี กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ว่า กสทช.ได้ออกมาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผลบังคับใช้วันที่ 16 มกราคม 2567

สาระสำคัญ อาทิ 1.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน 2.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลขขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน หากไม่ยืนยันตัวตนในกำหนดจะถูกพักใช้ ระงับการโทรออกและการใช้อินเตอร์เน็ต ยกเว้นโทรเบอร์ฉุกเฉิน และมีเวลาอีก 30 วัน หากยังไม่ยืนยันตัวตน จะถูกเพิกถอนการใช้เบอร์ของซิมการ์ดที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด ทั้งนี้ กสทช.กำชับให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือปฏิบัติตามเคร่งครัด ได้รับความร่วมมืออย่างดี

ขณะเดียวกัน กสทช.ได้เพิ่มเติมเพื่อสกัดการทำงานของกลุ่มมิจฉาชีพ จากที่มีอยู่เดิม 7 มาตรการ อาทิ การระงับการโทรเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบที่คนร้ายใช้อยู่เป็นประจำหรือไม่ทราบแหล่งที่มา โดยได้เพิ่มตัวเลข +697 และ +698 หน้าเลขหมายที่มีการโทรเข้าจากต่างประเทศผ่าน VOIP และโรมมิ่งตามลำดับ การจัดทำบริการ *138 ปฏิเสธการรับสายต่างประเทศ จัดระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ส่งข้อความไปยังผู้รับจำนวนมากๆ (เซนเดอร์เนม) จำกัดจำนวนการลงทะเบียนซิมการ์ด และยกเลิกการส่ง SMS แนบลิงก์บางประเภท

นอกจากนี้ การออกมาตรการดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกวาดล้างจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมเถื่อน และแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุคมนาคมผิดกฎหมาย รวมทั้งจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต

“หลังจากมาตรการต่างๆ มีผลบังคับใช้ ทำให้การสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อซิมการ์ดไม่สามารถระบุตัวตนได้จะถูกระงับการใช้งาน เพราะซิมการ์ดเหล่านั้นอาจตกอยู่ในความครอบครองของมิจฉาชีพ อีกทั้งถ้ามีการระบุตัวตนผ่านซิมการ์ดได้ เมื่อมีคดีเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่จะขยายผลจากหมายเลขโทรศัพท์ รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีม้า และจับกุมตัวการใหญ่ได้ต่อไป” พล.ต.อ.ดร.ณัฐธรกล่าว

⦁แบงก์ชาติออกเกณฑ์ป้องเงินไหล

ด้านเสาหลักภาคการเงินไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกันในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองและรับมือ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนรวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น ธปท.ได้ติดตามให้สถาบันการเงินทุกแห่งดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนด

มาตรการมีดังนี้ 1.มาตรการป้องกัน โดยหลายสถาบันการเงินทุกแห่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ การยกเลิกแนบลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล์ และการยกเลิกแนบลิงก์ขอข้อมูลสำคัญผ่านโซเชียลมีเดีย การจำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้ง (ยูสเซอร์เนม) ของแต่ละสถาบันการเงินให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์ และการพัฒนาระบบความปลอดภัยบนโมบายแบงกิ้งให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ สถาบันการเงินมีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้งก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง การกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวัน ให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท และการประเมินความตระหนักรู้ต่อภัยทุจริต รวมทั้งการยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยวิธีการไบโอเมตริกซ์หรือการสแกนใบหน้าเมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อครั้ง หรือ 200,000 บาทต่อวัน หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

2.มาตรการตรวจจับ ให้สถาบันการเงินทุกแห่งกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด และรายงานไปยังสำนักงาน ปปง. ขณะที่ระบบตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบทันที เพื่อระงับธุรกรรมชั่วคราวเมื่อตรวจพบทำได้เร็วขึ้น

3.มาตรการตอบสนองและรับมือ ให้สถาบันการเงินทุกแห่งจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (ฮอตไลน์) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางบริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้เร็ว ดูแลผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดการภัยทางการเงินมีประสิทธิผลและเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ธปท.จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดีอี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. และสมาคมธนาคารไทย ผลักดันการดำเนินการให้สอดคล้องตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

โดยภาคธนาคารได้ยกระดับให้สถาบันการเงินมีกระบวนการรับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง และระงับธุรกรรมชั่วคราวไว้ 72 ชั่วโมง เพื่อช่วยตัดตอนเส้นทางการเงิน รวมทั้งมีกระบวนการและพัฒนาระบบกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมที่ต้องสงสัยระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชน และช่วยจัดการบัญชีม้า อย่างไรก็ดี กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันยังคงร่วมกันเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดการปัญหาทำได้เร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการจัดการภัยทางการเงินดังกล่าวความสอดคล้องตามมาตรฐานสากลและการดำเนินการของสถาบันการเงินในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และฮ่องกง โดยบางมาตรการของไทยกำหนดเพิ่มเติม อาทิ การจำกัดโมบายแบงกิ้งของแต่ละสถาบันการเงินให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์ การยกระดับการยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกซ์ มาตรการรักษาความปลอดภัยบนโมบายแบงกิ้งเพื่อป้องกันแอพพลิเคชั่นดูดเงิน รวมถึงมาตรการแจ้งเตือนและสร้างความตระหนักรู้

ข้อมูลจาก ธปท.ยืนยันจะติดตามและประเมินผลของมาตรการต่างๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความเพียงพอของมาตรการต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภัยการเงินที่มีการพัฒนาต่อไป

จากมาตรการที่บังคับใช้อย่างเข้มข้น ภาครัฐร่วมมือภาคเอกชน ก็หวังว่าประชาชนจะไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์วนลูปอย่างที่เป็นมา!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image